xs
xsm
sm
md
lg

สโลวาเกียปฏิเสธรับผู้อพยพมุสลิมเข้าประเทศ อ้างเหตุผลไม่มี “มัสยิด” ให้ประกอบศาสนกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ทางการสโลวาเกียปฏิเสธการรับผู้อพยพชาวมุสลิมเข้าประเทศตามโควตาของสหภาพยุโรป (อียู) โดยอ้างเหตุผลที่ว่าประเทศตัวเองไม่มี “มัสยิด” แม้แต่แห่งเดียวสำหรับให้ชาวมุสลิมประกอบศาสนกิจ

รายงานข่าวล่าสุดจากกรุงบราติสลาวา ซึ่งอ้างคำแถลงของอิวาน เมติก โฆษกกระทรวงมหาดไทยของสโลวาเกีย ระบุว่า ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลสโลวาเกียพร้อมให้ความร่วมมือกับสหภาพยุโรป (อียู) ในการแบ่งเบาปัญหาผู้อพยพทั้งทางบกและทางเรือที่หลั่งไหลจากตะวันออกกลางและแอฟริกาเข้ามาสู่อิตาลี และกรีซในเวลานี้ แต่สโลวาเกีย “ไม่สะดวก” ที่จะรับผู้อพยพที่นับถือศาสนาอิสลามเข้าประเทศ

“จริงๆ แล้วรัฐบาลสโลวาเกียมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะช่วยเหลือชาติเพื่อนบ้านของเราในยุโรปในประเด็นเรื่องผู้อพยพ และเราก็มีศักยภาพมากพอที่จะรับผู้อพยพเหล่านี้เข้าประเทศได้ถึง 800 คน ซึ่งมากกว่าโควตาที่ทางอียูจัดสรรให้เราถึง 4 เท่าตัว แต่ติดตรงที่ว่าประเทศของเราไม่มีมัสยิดแม้แต่แห่งเดียว ดังนั้นเราจึงไม่สะดวกที่จะรับผู้อพยพที่เป็นชาวมุสลิมเข้ามาในประเทศของเรา” โฆษกกระทรวงมหาดไทยของสโลวาเกียกล่าวต่อสื่อดังอย่างวอลล์สตรีท เจอร์นัล

ทั้งนี้ ตามโควตาที่มีการจัดสรรกันแล้วนั้น สโลวาเกียจะต้องยอมรับผู้อพยพจำนวน 200 ราย จากทั้งหมด 40,000 รายจากอิตาลี และกรีซ แต่ท่าทีล่าสุดของทางการสโลวาเกียที่อาจเข้าข่ายเป็นการกีดกันทางศาสนาและเชื้อชาตินั้นกำลังสร้างความขุ่นเคืองให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอียูไม่น้อย

ด้านแหล่งข่าวทางการทูตของอียูในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมระบุว่า การปฏิเสธรับผู้อพยพชาวมุสลิมเข้าประเทศของทางการสโลวาเกีย ด้วยเหตุผลว่าไม่มีมัสยิดในประเทศของตนอาจนำมาซึ่งปัญหาทางด้านกฎหมายและอาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้ายซึ่งเป็นเรื่องที่ทางอียูไม่อาจยอมรับได้

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทางการสโลวาเกีย เกิดขึ้นในขณะที่กำลังเกิดกระแสต่อต้านชาวมุสลิมอย่างใหญ่หลวงขึ้นในหลายประเทศทั่วยุโรปเนื่องจากความเชื่อของชาวยุโรปจำนวนไม่น้อยที่มองว่าชาวมุสลิมมักเป็นกลุ่มชนที่ชอบใช้ความรุนแรง ก่อปัญหาความไม่สงบ และมักมีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มก่อการร้ายสุดโต่งทั้งหลาย

ทั้งนี้ อียูกำลังเผชิญกับวิกฤตการไหลบ่าของผู้อพยพซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัวในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นมากกว่า 107,500 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และในเดือนที่แล้วถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่มีการบันทึกสถิติในปี 2008 เป็นต้นมาที่มีผู้อพยพจากตะวันออกกลาง และแอฟริกาไหลทะลักเข้าสู่แผ่นดินยุโรปเกิน 100,000 ราย

ก่อนหน้านี้ สหประชาชาติออกมาเปิดเผยในวันอังคาร( 18 ส.ค.) โดยระบุ เฉพาะสัปดาห์ที่แล้วเพียงสัปดาห์เดียว มีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเกือบ 21,000 ชีวิตเดินทางเข้ามาในกรีซ ประเทศสมาชิกยูโรโซนซึ่งกำลังถูกรุมเร้าด้วยวิกฤตหนี้สินและปัญหาทางเศรษฐกิจนานัปการ

รายงานข่าวซึ่งอ้าง วิลเลียม สปินด์เลอร์ โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR ) ที่ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า เฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมาเพียงสัปดาห์เดียว มีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรียและอัฟกานิสถานเดินทางเข้ามายังกรีซเกือบ 21,000 ราย หรือคิดเป็นจำนวน “เกือบครึ่งหนึ่ง” ของยอดผู้อพยพทั้งหมด ที่เดินทางเข้ากรีซตลอดทั้งปี 2014

โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ระบุด้วยว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา มีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจากซีเรียและอัฟกานิสถาน เดินทางเข้ามายังแผ่นดินของกรีซรวมแล้วมากกว่า 160,000 คน

ข้อมูลล่าสุดของยูเอ็นเอชซีอาร์ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้อพยพจำนวน 158,456 รายที่เดินทางข้าม “ทะเลอีเจียน” จากตุรกีมายังหมู่เกาะต่าง ๆ ของกรีซ ขณะที่อีก 1,716 รายเดินทางมาถึงกรีซ ด้วยการ “เดินเท้า”

ทั้งนี้ มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้อพยพที่เดินทางมุ่งหน้ามายังกรีซนั้น จะเป็นชาวซีเรียที่อพยพหนีภัย “สงครามกลางเมือง”ในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน ขณะที่ผู้อพยพส่วนเหลือจะเป็นชาวอัฟกันและชาวอิรักเสียเป็นส่วนใหญ่

การไหลบ่าของคลื่นผู้อพยพทั้งทางเรือและทางบกเข้าสู่ยุโรป กำลังกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งกับหลายประเทศโดยเฉพาะอิตาลีและกรีซ ซึ่งต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้อพยพ ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเหล่านี้เอาไว้มากที่สุด

ทั้งนี้ โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่ทางสหภาพยุโรป (อียู) จะต้องเร่งหาทางรับมือและแก้ไขวิกฤตผู้อพยพนี้อย่างจริงจัง แทนการปล่อยให้ประเทศที่เป็นหน้าด่านอย่างกรีซและอิตาลีแบกรับภาระนี้เพียงลำพัง



กำลังโหลดความคิดเห็น