xs
xsm
sm
md
lg

หน่วยยามฝั่งกรีซเผย ช่วย “ผู้อพยพทางเรือ” มากกว่า 1,000 ชีวิตจากการจมน้ำตายใน “ทะเลอีเจียน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - หน่วยยามฝั่งของกรีซแถลงในวันจันทร์ (22 มิ.ย.) ระบุได้ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพทางเรือจำนวนมากกว่า 1,000 รายตลอด 4 วันที่ผ่านมาจากน่านน้ำแถบ “ทะเลอีเจียน” ทางภาคตะวันออกของประเทศ

คำแถลงของหน่วยยามฝั่งของกรีซระบุว่า นับตั้งแต่ช่วงเช้าของวันศุกร์ (19) เป็นต้นมา จนถึงช่วงเช้าของวันจันทร์ (22) ที่ผ่านมา หน่วยงานของตนได้ให้ความช่วยเหลือต่อผู้อพยพทางเรือจากภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมแล้วทั้งสิ้น 1,161 ราย ผ่านปฏิบัติลาดตระเวนในน่านน้ำทะเลอีเจียนรวม 37 ครั้งตลอด 4 วันที่ผ่านมา ก่อนจะนำตัวผู้อพยพเหล่านี้ไปยังค่ายพักชั่วคราวเพื่อให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรมต่อไป

ด้านกระทรวงมหาดไทยของกรีซออกมาเปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า ขณะนี้ประเทศของตนกำลังเผชิญกับวิกฤตผู้อพยพครั้งเลวร้าย จากการที่ต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้อพยพทางเรือแล้วมากกว่า 55,000 ชีวิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรียที่หลบหนีภัยสงครามกลางเมืองในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน

ขณะที่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงในกรุงเอเธนส์เผยว่า ผู้อพยพชาวซีเรียส่วนใหญ่ที่หลบหนีออกมาจากประเทศของตนมักเลือกเดินทางผ่านแผ่นดินตุรกี ก่อนจะหาเรือนำพาพวกเขาข้ามทะเลอีเจียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังเกาะต่างๆ ของกรีซ โดยที่ผู้อพยพเกือบทั้งหมดต่างแจ้งความประสงค์ที่ต้องการเดินทางออกจากกรีซ เพื่อมุ่งหน้าต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่ากรีซ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันเสาร์ (20 มิ.ย.) เพิ่งเกิดเหตุวุ่นวายที่มีต้นตอมาจากกระแสต่อต้านผู้อพยพทางเรือ ในประเทศสโลวาเกียเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสโลวาเกีย ได้เข้าทำการควบคุมตัวกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนอย่างน้อย 60 ราย ที่เข้าร่วมการเดินขบวนแสดงพลังครั้งใหญ่ในกรุงบราติสลาวา เมืองหลวงของประเทศ เพื่อต่อต้านการรับผู้อพยพเข้าเมืองตามนโยบายของทางสหภาพยุโรป (European Union : EU)

รายงานข่าวระบุว่า การจัดเดินขบวนแสดงพลังต่อต้านการรับผู้อพยพเข้าเมืองที่เกิดขึ้นในกรุงบราติสลาวา เมืองหลวงของสโลวาเกียในวันเสาร์ (20) ถูกจัดขึ้นผ่านการนัดหมายที่กระทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่าง “เฟซบุ๊ก” โดยทางกลุ่มผู้จัดให้มีการเดินขบวนในกรุงบราติสลาวา เพื่อต่อต้านการรับผู้อพยพเข้าเมือง ตามนโยบายของทางสหภาพยุโรปนั้น อ้างว่ามีผู้เดินทางเข้ามาร่วมเดินขบวนเป็นจำนวนหลายพันคน และว่า นี่ถือเป็นการพลังอันบริสุทธิ์ของประชาชนชาวสโลวาเกียที่เป็น “เจ้าของประเทศ” ตัวจริงเสียงจริงว่า ไม่ต้องการรับผู้อพยพจากทวีปแอฟริกาและภูมิภาคตะวันออกกลางเหล่านี้ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศของตน

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลสโลวาเกียได้แสดงจุดยืนทางการทูตที่ชัดเจนในการต่อต้านแผนการจัดสรรโควต้าเชิงบังคับของสหภาพยุโรปที่ต้องการให้บรรดาประเทศสมาชิกอียู ต้องจำใจอ้าแขนรับผู้อพยพเหล่านี้เข้าประเทศ ตามเกณฑ์ของสภาพเศรษฐกิจและจำนวนประชากร

หากคำนวณตามเกณฑ์ดังกล่าวของอียูแล้วคาดว่า สโลวาเกียซึ่งเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2004 และเป็นบ้านของประชากรราว 5.5 ล้านคนในเวลานี้ จะต้องยอมรับผู้อพยพทางเรือ จากแอฟริกาและตะวันออกกลางเข้าประเทศเป็นจำนวนทั้งสิ้น “785 ราย” จากจำนวนผู้อพยพที่มีจำนวนมากกว่า “ครึ่งแสน” ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็น “ชาวมุสลิม” ที่ปักหลักรออยู่ในค่ายพักชั่วคราวทั้งในประเทศอิตาลีและกรีซในตอนนี้

นอกเหนือจากสโลวาเกียแล้ว มีรายงานซึ่งอ้างแหล่งข่าวทางการทูตในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมว่า รัฐบาลของประเทศสมาชิกอียูอีกหลายชาติต่างแสดงจุดยืนคัดค้านแผนรับผู้อพยพเข้าเมืองครั้งนี้ของอียูด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของฝรั่งเศส โปแลนด์ และฮังการี

ขณะที่ประเทศอย่างอิตาลี และกรีซ ที่ต้องแบกรับปัญหาการไหลทะลักของผู้อพยพอยู่เพียงลำพังในขณะนี้ ต่างต้องการให้สมาชิกอื่นของสหภาพยุโรปเร่งเข้ามาแบ่งเบาภาระของตนในการดูแลผู้อพยพตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม

บรรดานักวิเคราะห์และผู้สันทัดกรณีทางการทูตต่างให้ความเห็นว่า ประเด็นปัญหาเรื่องวิกฤตผู้อพยพทางเรือที่หลั่งไหลเข้าสู่แผ่นดินยุโรปโดยเฉพาะที่อิตาลีและกรีซ และการจัดสรรโควตาเชิงบังคับเพื่อรับผู้อพยพเหล่านี้เข้าไปตั้งถิ่นฐานในหมู่ประเทศสมาชิกอียู จะกลายเป็น “ประเด็นร้อนฉ่า” ที่จะทำให้การประชุมอียู ซัมมิตที่กรุงบรัสเซลส์เมืองหลวงของเบลเยียมในระหว่างวันที่ 25-26 มิถุนายนนี้ดำเนินไปอย่างตึงเครียดและเผ็ดร้อนได้ ไม่แพ้ประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินของกรีซ










กำลังโหลดความคิดเห็น