xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีต่างประเทศเมืองเบียร์ ยอมรับ EU ยังเห็นต่างอื้อเรื่องรับมือวิกฤต “ผู้อพยพทางเรือ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ฟรังก์-วัลเทอร์  ชไตน์ไมเยอร์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี
เอเอฟพี/เอพี/เอเจนซี /ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ฟรังก์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเยอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี เปิดเผยในวันพุธ (17 มิ.ย.) โดยยอมรับเป็นครั้งแรกว่าบรรดาชาติสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) ยังคงมีความคิดเห็นและจุดยืนที่แตกต่างกัน รวมถึงยังอยู่ห่างไกลจากคำว่า “ฉันทามติ” ร่วมกัน ในประเด็นเรื่องการเปิดรับผู้อพยพเข้าเมืองระหว่างสมาชิกทั้ง 28 ชาติ

ชไตน์ไมเยอร์ ในวัย 59 ปี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศให้กับรัฐบาลเมืองเบียร์ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล ตั้งแต่ 17 ธันวาคม ปี 2013 กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวที่กรุงเบอร์ลินในระหว่างการแถลงข่าวร่วมกันกับเปาโล เจนติโลนี รัฐมนตรีต่างประเทศของอิตาลี

การออกมายอมรับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี ว่าบรรดาชาติสมาชิกของสหภาพยุโรป ยังคงมีความคิดเห็นและจุดยืนที่แตกต่างกัน รวมถึงยังอยู่ห่างไกลจากคำว่า “ฉันทามติ” ร่วมกันในประเด็นเรื่องการเปิดรับผู้อพยพเข้าเมืองนั้นมีขึ้นเพียงแค่วันเดียวหลังจากที่ประชุมของบรรดารัฐมนตรีมหาดไทยของชาติสมาชิกอียูมีอันต้องจบลงแบบล้มเหลวไม่เป็นท่า และปราศจากข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมในการรับมือกับวิกฤตผู้อพยพทางเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

จนถึงเวลานี้ บรรดาชาติสมาชิกสหภาพยุโรปยังคงไม่สามารถตกลงประนีประนอมกันได้เกี่ยวกับการแบ่งสรรกันรับผู้อพยพชาวซีเรียและชาวเอริเทรียจำนวนมากกว่า 40,000 ชีวิตที่เดินทางมาถึงยุโรปแล้ว เช่นเดียวกับการมองหา “บ้านหลังใหม่” สำหรับการรองรับผู้อพยพชาวซีเรียอีกราว 20,000 รายที่ในเวลานี้ยังคงต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพชั่วคราวซึ่งตั้งอยู่นอกทวีปยุโรป

แหล่งข่าวทางการทูตในยุโรปเผยว่า ขณะนี้เยอรมนีและอิตาลีต่างเห็นพ้องกันว่า หนทางที่ดีที่สุดในการรับมือกับวิกฤตผู้อพยพทางเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนั้นคงหนีไม่พ้นการกำหนดโควตาเชิงบังคับให้แก่ชาติสมาชิกในการช่วยกันแบกรับผู้อพยพเหล่านี้ ถึงแม้หลายชาติในอียูจะยังคงแสดงจุดยืนคัดค้านแนวความคิดนี้

ข้อมูลล่าสุดระบุว่า จำนวนของผู้อพยพทางเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนับตั้งแต่เริ่มปี 2015 เป็นต้นมา ได้เพิ่มสูงขึ้นจนมีมากกว่า 100,000 รายแล้ว ในจำนวนนี้มีกว่า 60,000 รายที่เดินทางเข้ายุโรปผ่านทางประเทศอิตาลีเพียงประเทศเดียว

ทั้งนี้ ข้อมูลของทางการเยอรมนีระบุว่า ในปี 2014 ที่ผ่านมาเยอรมนีได้เปิดรับผู้อพยพจำนวน 200,000 รายเข้าประเทศแต่เป็นที่คาดกันว่าในปีนี้ เยอรมนีอาจต้องจำใจรับผู้อพยพรายใหม่เข้าประเทศสูงถึง 450,000 ราย

ในอีกด้านหนึ่งหลายฝ่ายตั้งความหวังว่า การประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (EU summit ) ที่กำลังจะเปิดฉากขึ้น ณ กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมในระหว่างวันที่ 25-26 มิถุนายนนี้ อาจนำไปสู่ “ทางออกที่เหมาะสม” สำหรับการแก้ปัญหาผู้อพยพทางเรืออย่างยั่งยืนต่อไป
ชไตน์ไมเยอร์  แถลงข่าวร่วมกับเปาโล เจนติโลนี  รัฐมนตรีต่างประเทศของอิตาลี









กำลังโหลดความคิดเห็น