ผ่าประเด็นร้อน
เป็นเพราะแรงบีบเข้ามาทุกทางเพื่อแลกกับการยอมรับในเวทีโลกหรือไม่ที่ทำให้ รัฐบาล และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมอนุญาตให้กองทัพสหรัฐอเมริกาเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภา และสนามบินภูเก็ตเป็นฐานบินลาดตระเวนตรวจตราและช่วยเหลือผู้อพยพทางเรือชาวโรฮีนจาในน่านน้ำฝั่งอันดามันและพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมด
เชื่อว่าต้องมีคนไทยหลายคนไม่สบายใจในเรื่องนี้อย่างแน่นอน เพราะเมื่อพิจารณาตามรูปการณ์นี่คือการหาข้ออ้างเพื่อหวนกลับเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้อีกครั้ง โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐาน หลังจากก่อนหน้านี้ไดั “แทงหวย” ทักษิณ ชินวัตร แลกผลประโยชน์กันแบบหมดหน้าตัก แต่เมื่อเกิดการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป มีการอ้างเงื่อนไขรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้งลดระดับความสัมพันธ์ ห้าม พล.อ.ประยุทธ์ และ คณะ คสช. คนสำคัญเข้าสหรัฐฯ หลังจากนั้น ก็มีการใช้เงื่อนไขประชาธิปไตยบีบไทยต่างๆ นานา
อย่างไรก็ดี ด้วยนโยบายที่ไม่สร้างเงื่อนไขตอบโต้ ตรงกันข้ามกลับยังใช้นโยบายความเป็นมิตร “ใช้อ่อนสยบแข็ง” เดินหน้าชี้แจงกับทุกประเทศ ขณะเดียวกัน ก็สร้างพลังต่อรองกับมหาอำนาจรายอื่นพร้อมกันไปด้วยทำให้ไทยไม่ได้ถูกโดดเดี่ยว จนระยะหลังจะสังเกตได้ว่าท่าทีของสหรัฐอเมริกาต่อไทยเริ่มอ่อนลงไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เนื่องจากสาเหตุของการคบกับไทยก็คือ “ผลประโยชน์” อย่างเดียวเท่านั้น เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนล้วนเป็นเรื่องบังหน้าเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เห็นชอบกรณีที่สหรัฐอเมริกาขอใช้สนามบินอู่ตะเภา และ ภูเก็ต เป็นฐานก่อนบินออกลาดตระเวนสำรวจสถานการณ์ผู้อพยพในทะเล โดย กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบกลับไปว่าหากสหรัฐฯ ต้องการบินเหนือน่านน้ำไทย มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย โดยใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการ นั้นถือเป็นภารกิจที่ดี แต่สหรัฐฯจะต้องเพิ่มรายละเอียดมากกว่านี้ อาทิ เส้นทางบิน เพราะการปฏิบัติภารกิจนี้จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยเฉพาะกิจที่ไทยจัดตั้งขึ้น ซึ่งการช่วยเหลือจะเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยได้ขอให้สหรัฐฯสนับสนุนส่งเรือร่วมปฏิบัติภารกิจของไทยซึ่งอยู่ระหว่างรอคำตอบอย่างเป็นทางการจากสหรัฐฯตอบกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
แน่นอนว่านี่คือแผน “รุกคืบ” กลับเข้ามาอีกครั้งของ สหรัฐอเมริกา หลังจากก่อนหน้าก็เคยแหย่เข้ามาแล้วด้วยการขอใช้สนามบินอู่ตะเภา สำหรับภารกิจด้านมนุษยธรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล และต่อเนื่องกับข้ออ้างเรื่องการตรวจตราผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่ทั่วโลกกำลังสนใจอยู่ในเวลานี้
อย่างไรก็ดี เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเกี่ยวพันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ พม่า และที่สำคัญ น่านน้ำแถบนี้ไปเกี่ยวพันกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งก็ต้องเชื่อมโยงไปถึงจีน ที่เป็นมหาอำนาจในย่านนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
แม้ว่าเรื่องแบบนี้ฝ่ายความมั่นคงของไทยคงต้องคิดอย่างรอบคอบ เปรียบเทียบผลดีผลเสียที่จะตามมา แม้ว่าจะเป็นการอนุญาตแบบมีเงื่อนไขนั่นคืออยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพไทยที่จะจัดตั้งขึ้นมาเป็น “หน่วยเฉพาะกิจ” แต่ก็นั่นแหละนั่นเป็น “หน้าฉาก” ที่มองเห็นกันอยู่ แต่คำถามที่น่าสงสัยก็คือ แล้วเบื้องหลังมีการ “ต่อรอง” อะไรที่ปิดบังกันหรือเปล่า โดยเฉพาะการแลกกับการ “ยอมรับ” ของคณะผู้นำ คสช. หรือไม่
แน่นอนว่าภารกิจดังกล่าวนี้เป็นเรื่องของมนุษยธรรมนำหน้ามาก่อน แต่เมื่อใดก็ตามที่ไปเกี่ยวข้องกับสหรัฐอเมริกาแล้ว มันก็ต้องเป็นเรื่องให้น่าสงสัยทุกครั้งไป เพราะทุกเรื่องราวในอดีตมีแต่เรื่องผลประโยชน์ สร้างปัญหาในภูมิภาคอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ยังเป็นช่วงที่ไทยกำลังหวนคืนกลับมาเป็นผู้มีบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียนอีกครั้ง อย่างน้อยด้วยการพลิกโอกาสจากการเป็นเจ้าภาพประชุมประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง 17 ประเทศในกรุงเทพฯวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ มันก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ดังนั้น แม้ว่าการที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาขอใช้สนามบินอู่ตะเภา และภูเก็ตเป็นฐานบินชั่วคราว ด้วยข้ออ้างเพื่อตรวจตราและช่วยเหลือผู้อพยพทางทะเลชาวโรฮีนจา แต่คำถามก็คือมันเป็นแค่ชั่วคราว หรือว่าเป็นเพียงข้ออ้าง เพื่อรุกคืบเข้ามาตั้งฐานอย่างถาวร เพื่อคานอำนาจกับจีนในทะจีนใต้หรือไม่ !!