เอเอฟพี - สาวข้ามเพศมาเลเซีย 3 คนยื่นฟ้องศาลอุทธรณ์ในเมืองปุตราจายาจนสามารถคว่ำกฎหมายห้ามชายมุสลิมแต่งกายเป็นหญิงในรัฐเนกรีเซมบิลันได้สำเร็จวันนี้ (7 พ.ย.) ซึ่งเป็นชัยชนะทางกฎหมายที่มีนัยยะสำคัญต่อชุมชนชาวสีม่วงในแดนเสือเหลือง ซึ่งพลเมืองกว่าครึ่งนับถือศาสนาอิสลาม
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 3 คนมีคำวินิจฉัยว่า กฎหมายของรัฐเนกรีเซมบิลันที่ห้ามชายมุสลิมแต่งกายเป็นผู้หญิงนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะ “เป็นการลิดรอนสิทธิในการใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติของผู้อุทธรณ์”
“กฎหมายดังกล่าวส่งผลให้ผู้อุทธรณ์และพลเมืองคนอื่นๆ ที่มีภาวะความไม่พอใจในเพศตนเอง (gender identity disorder) ไม่สามารถเดินทางอย่างเสรีในสถานที่สาธารณะ ซึ่งเป็นการกดขี่ และขาดมนุษยธรรม” ฮิชามุดดิน ยูนุส หนึ่งในผู้พิพากษา กล่าว
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันนี้ (7) มีผลล้มล้างคำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อปี 2012 ซึ่งปฏิเสธข้อโต้แย้งของสตรีข้ามเพศทั้ง 3 คน หลังจากที่พวกเธอถูกจับกุมในรัฐเนกรีเซมบิลันเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
มาเลเซียใช้ระบบศาลยุติธรรม 2 ทาง โดยแต่ละรัฐจะมีกฎหมายอิสลามที่ใช้ตัดสินคดีพลเรือนสำหรับชาวมุสลิม
ภายใต้กฎหมายอิสลามระดับรัฐ ชายมุสลิมที่แต่งกายหรือแสดงท่าทางเป็นหญิงมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี และในบางรัฐยังมีกฎหมายห้ามผู้หญิงแต่งกายเป็นชายด้วย
แอสตัน ไพวา ทนายความฝ่ายโจทก์ ชี้ว่าคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ครั้งนี้สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานโต้แย้งการจับกุมคนข้ามเพศทั่วทั้งมาเลเซียในอนาคต
“นี่เป็นคดีแรกและคดีประวัติศาสตร์ ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาที่ผูกมัดศาลสูงอื่นๆ ไว้แล้ว” ไพวากล่าว
ที่ปรึกษากฎหมายแห่งรัฐเนกรีเซมบิลันปฏิเสธที่จะตอบคำถามที่ว่า หลังจากนี้ทางรัฐจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลระดับสูงขึ้นไปหรือไม่
คดีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีผู้พยายามท้าทายกฎหมายห้ามแต่งกายผิดเพศในมาเลเซีย ซึ่งชาวมุสลิมที่เป็นพลเมืองกว่าครึ่งประเทศนั้นมองว่า พฤติกรรมรักร่วมเพศและการใช้ชีวิตแบบคนข้ามเพศเป็นเรื่องต้องห้าม
เมื่อเดือนกันยายน องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอตช์ เรียกร้องให้รัฐบาลเสือเหลืองยกเลิกกฎหมายเอาผิดบุคคลข้ามเพศ พร้อมชี้ว่าสังคมมาเลเซียมีการกดขี่ข่มเหง เลือกปฏิบัติ และแบ่งแยกกีดกันคนกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแนวคิดอิสลามสายอนุรักษ์นิยมกำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ
ฮิวแมนไรต์วอตช์ยังอ้างถึงการล่วงละเมิดสิทธิคนข้ามเพศโดยเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เช่น การจับกุม, ทำร้ายร่างกาย, ทำร้ายทางเพศ และขู่กรรโชก ขณะที่สังคมมาเลเซียก็มีส่วนสร้างความอับอายแก่คนข้ามเพศ เช่น บังคับให้พวกเธอเปลื้องผ้าในที่สาธารณะ เป็นต้น
นอกจากนี้ คนข้ามเพศในมาเลเซียยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุข ตำแหน่งงาน และการศึกษาได้อย่างเต็มที่