xs
xsm
sm
md
lg

ศาลบังกลาเทศพิพากษายืนประหารชีวิต “อาชญากรสงคราม” แกนนำอิสลามิสต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โมฮัมหมัด คามารุสซามาน ผู้ช่วยเลขาธิการทั่วไปของพรรคจามาต อี อิสลามี ภายในรถตู้ตำรวจหลังเข้ารับฟังคำพิพากษาในการพิจารณาคดีของเขาต่อหน้าศาลอาชญากรรมนานาชาติในกรุงธากา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 2013
รอยเตอร์ – ศาลสูงบังกลาเทศพิพากษาวันนี้ (3) ยืนโทษประหารชีวิตแกนนำอิสลามิสต์รายหนึ่งฐานกระทำการโหดร้ายป่าเถื่อนในช่วงสงครามเรียกร้องเอกราชจากปากีสถานเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

โมฮัมหมัด คามารุสซามาน วัย 62 ปี ผู้ช่วยเลขาธิการทั่วไปของพรรคจามาต อี อิสลามี เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วถูกศาลอาชญากรรมสงครามพิเศษตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และทรมานพลเมืองไร้อาวุธในช่วงสงครามเพื่อแยกตัวออกจากปากีสถานเมื่อปี 1971

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลชำนัญพิเศษแห่งนี้ได้มีคำพิพากษาประหารชีวิตแกนนำพรรคจามาต 2 คน รวมถึง โมทีอูร์ เราะห์มาน นีซามี ผู้เป็นทั้งหัวหน้าพรรคและอดีตนายกรัฐมนตรี

การประท้วงรุนแรงต่อการพิจารณาคดีนี้เป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญที่นายกรัฐมนตรี ชีค ฮาสินา ซึ่งได้เปิดการสืบสวนอาชญากรรมสงครามต่างๆ เมื่อปี 2010 กำลังเผชิญ

ทีมทนายจำเลยกล่าวว่า จะยื่นฎีกาเพื่อขอการพิจารณาทบทวน แต่อัยการรัฐ ระบุว่า การพิจารณาทบทวนไม่ได้เป็นตัวเลือก

“ศาลสูงพิพากษายืนโทษประหารชีวิตเขาด้วยเสียงข้างมาก” โกลัม อาริฟ ทีปู หัวหน้าอัยการ บอกกับผู้สื่อข่าวนอกศาลซึ่งแน่นขนัดไปด้วยผู้คนท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

เหล่าทหารผ่านศึกในสงครามครั้งนั้น ซึ่งอยู่ในหมู่ผู้คนหลายร้อยนอกศาล ต่างโห่ร้องยินดีกับคำพิพากษานี้ โดย นาสิรุดดิน ยูซุฟ ผู้สร้างภาพยนตร์และทหารผ่านศึก บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “เราต้องการให้คำตัดสินมีผลในเร็วๆ นี้”
เดลาวาร์ ฮอสเซน ซายาดี
ในเดือนกันยายน ศาลสูงได้พิจารณาลดโทษให้กับ เดลาวาร์ ฮอสเซน ซายาดี ผู้นำอาวุสโสอิสลามิสต์อีกคนหนึ่ง ซึ่งต้องโทษในความผิดเดียวกันนี้ จากโทษประหารชีวิตเหลือจำคุกตลอดชีวิต

เมื่อเดือนธันวาคมมีนักการเมืองอิสลามิสต์รายหนึ่งถูกแขวนคอ ซึ่งเป็นการประหารอาชญากรสงครามคนแรกในบังกลาเทศ หลังจากศาลสูงกลับคำพิพากษาลงโทษจำคุดตลอดชีวิตของศาลอาชญากรรมสงครามพิเศษ

ศาลชำนัญพิเศษแห่งนี้ได้สร้างความโกรธเกรี้ยวให้กับพวกอิสลามิสต์ ที่ชี้ว่า นี่เป็นความพยายามด้วยแรงขับทางการเมืองที่หวังจะกวาดล้างพวกผู้นำพรรคจามาตและทำให้ฝ่ายค้านอ่อนแอลง

เหตุปะทะต่างๆ เมื่อปีที่แล้วได้คร่าชีวิตประชาชนไปมากกว่า 200 ราย โดยส่วนมากเป็นนักเคลื่อนไหวของพรรคอิสลามิสต์และสมาชิกกองกำลังความมั่นคง

กลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ระบุว่า วิธีพิจารณาความของศาลชำนัญพิเศษแห่งนี้ต่ำกว่ามาตรฐานสากล แต่รัฐบาลออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

ส่วนที่เคยเป็นปากีสถานตะวันออกในช่วงสิ้นสุดการปกครองของอังกฤษเมื่อปี 1947ได้แยกตัวเข้ามารวมกับบังกลาเทศในปี 1971 หลังสงครามระหว่างผู้รักชาติชาวบังกลาเทศที่มีอินเดียหนุนหลังกับกองกำลังปากีสถานได้สิ้นสุดลง โดยสังเวยชีวิตผู้คนไปมากกว่า 3 ล้านคน

บางฝักฝ่ายในบังกลาเทศ รวมถึงพรรคจามาต คัดค้านการแยกตัวจากปากีสถาน แต่พรรคนี้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า เหล่าผู้นำของพวกเขาก่อเหตุฆาตกรรม , ข่มขืน และทรมาน
กำลังโหลดความคิดเห็น