xs
xsm
sm
md
lg

เผยโฉมพิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งใหม่กัมพูชาฝีมือสถาปนิกระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพสถาปัตยกรรมของพิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และสถาบันแหง่ใหม่ที่วางแผนไว้ของศูนย์เอกสารกัมพูชาจากฝีมือการออกแบบของซาฮา ฮาดิด สถาปนิกชาวอิรัก-อังกฤษ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มสร้างได้ในปีหน้า.--Photo/Cambodia Daily/Sleuk Rith Institute/Architectsjournal.co.uk.</font></b>

เอเอฟพี/แคมโบเดียเดลี่ - ซาฮา ฮาดิด (Saha Hadid) สถาปนิกหญิงชื่อดังชาวอิรัก-อังกฤษ เผยผลงานการออกแบบพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัมพูชาแห่งใหม่ ที่จะใช้บันทึกเหตุการณ์อาชญากรรมของยุคการปกครองเขมรแดง ในช่วงปี 2518-2522 ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวกัมพูชาเสียชีวิตสูงถึง 2 ล้านคน

สถาบัน Sleuk Rith มีกำหนดเริ่มงานก่อสร้างในปีหน้า ที่จะประกอบด้วย ส่วนของพิพิธภัณฑ์ ศูนย์วิจัย บัณฑิตวิทยาลัย สวนสาธารณะ และแหล่งข้อมูลเอกสารจากศูนย์เอกสารของกัมพูชา (DC-Cam)

ภาพจำลอง และรายละเอียดถูกเผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (10) เผยให้เห็นโครงสร้างของศูนย์พิพิธภัณฑ์ที่ประกอบด้วยอาคารไม้เชื่อมต่อกัน 5 หลัง ที่มีความสูงตั้งแต่ 3-8 ชั้น ล้อมรอบด้วยสระน้ำ รูปทรงเรขาคณิตที่ได้แรงบันดาลใจจากหมู่ปราสาทนครวัดที่มีชื่อเสียงของกัมพูชา

ฮาดิด กล่าวว่า เธอหวังให้ศูนย์แห่งนี้จะช่วยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นำชีวิตใหม่ และอนาคตที่สดใสมาสู่พื้นที่อันเต็มไปด้วยร่องรอยโศกนาฏกรรมในอดีต

พิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งใหม่ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนเก่าในกรุงพนมเปญ ที่เคยถูกใช้เป็นค่ายให้การศึกษาโดยบรรดาผู้ปกครองคอมมิวนิสต์ ที่รื้อถอนสังคมกัมพูชาสมัยใหม่ เพื่อสร้างสังคมอุดมคติ

ยู้ก ชาง ผู้อำนวยการ DC-Cam และผู้ก่อตั้งสถาบัน Sleuk Rith กล่าวว่า สถาบันแห่งใหม่มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ความรู้ผู้คนเกี่ยวกับการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อน ขณะเดียวกัน ก็มุ่งไปสู่อนาคตข้างหน้า

ชาง ผู้รอดชีวิตจากการปกครองของเขมรแดง กล่าวว่า กัมพูชาจะไม่หนีประวัติศาสตร์ของตัวเอง แต่ไม่จำเป็นต้องตกเป็นทาสของประวัติศาสตร์นั้น สังคมหลังความขัดแย้งต้องก้าวต่อไป และหวังให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นศูนย์ระดับโลกเพื่อการศึกษา และการวิจัยในสาเหตุ และการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ผู้อำนวยการศูนย์ DC-Cam ไม่ได้ระบุตัวเลขมูลค่าการก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลังนี้ และกล่าวว่า ศูนย์ต้องการสะท้อนความหมายของชาติโดยไม่ถูกจำกัดด้วยเงินทุน

“เรานำแบบอาคารไปให้ชาวบ้านในชนบทดู และถามความเห็นพวกเขาว่าชอบหรือไม่ มันเป็นภารกิจที่ตื้นตันใจอย่างมาก เพราะไม่ว่าพวกเขาจะยากจนเพียงใด พวกเขาหยิบยื่นเงินให้เรา 500 เรียลบ้าง 1,000 เรียลบ้าง เพื่อสนับสนุนโครงการนี้ เราหวังว่าประชาคมโลก และคนอื่นๆ จะรู้สึกเช่นเดียวกัน เช่นเดียวกันคนยากจน และผู้ที่ทุกข์ทรมานจากเขมรแดง และสนับสนุนให้โครงการนี้เป็นความจริง” ยู้ก ชาง กล่าว

ยู้ก ชาง ระบุว่า ยังเป็นไปไม่ได้ที่จะระบุเวลาที่แน่นอนเกี่ยวกับการก่อสร้าง แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ จิตวิญญาณของอาคาร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการหารือเกี่ยวกับเวลาที่จะก่อสร้าง แต่ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้โครงการเสร็จสิ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า
.
ภาพการออกแบบสถาบันและพิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งใหม่ของกัมพูชา จาก Architectsjournal.co.uk
.




กำลังโหลดความคิดเห็น