เอเอฟพี - ตัวแทนครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงครามออกมาเรียกร้องให้นำป้ายวิญญาณของอดีตผู้นำและนายทหารระดับสูงซึ่งถูกตราหน้าเป็น “อาชญากรสงคราม” ออกจากศาลวีรชนใจกลางกรุงโตเกียว เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเผยวันนี้ (29 ต.ค.)
สมาคมครอบครัวผู้สูญเสียจากสงครามได้ผ่านมติในการประชุมประจำปีเมื่อวันจันทร์ (27) โดยเรียกร้องให้ศาลเจ้ายาสุกุนิดำเนินการถอดป้ายวิญญาณอดีตนายทหารระดับสูง 14 คนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ออกจากรายชื่อเหยื่อสงคราม 2.5 ล้านคนซึ่งได้รับการกราบไหว้สักการะอยู่ที่ศาลแห่งนี้
เจ้าหน้าที่จากสมาคมที่จังหวัดฟุกุโอกะให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มีความจำเป็น “เพื่อให้สมเด็จพระจักรพรรดิ จักรพรรดินี นายกรัฐมนตรี และประชาชนชาวญี่ปุ่น สามารถเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิได้อย่างสะดวกใจ”
หลายปีที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ ให้นำป้ายวิญญาณอาชญากรสงครามทั้ง 14 คนออกจากศาลเจ้ายาสุกุนิ
นักการเมืองชาตินิยมจัดในญี่ปุ่น รวมถึงนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ อ้างว่าศาลเจ้ายาสุกุนิไม่ได้แตกต่างอะไรจากสุสานแห่งชาติอาร์ลิงตันในสหรัฐฯ หรืออนุสรณ์สถานวีรชนสงครามในประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ดี การที่ป้ายวิญญาณอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น พล.อ.ฮิเดกิ โตโจ ผู้บัญชาการทหารและนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนออกคำสั่งโจมตีอ่าวเพิร์ล ถูกแอบนำเข้าไปไว้ในศาลเจ้ายาสุกุนิในปี 1978 ได้ทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงลังเลที่จะเสด็จฯไปสักการะศาลแห่งนี้มาแล้ว และสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะซึ่งเป็นพระราชโอรสก็ไม่เคยเสด็จฯไปที่ศาลเจ้ายาสุกุนิเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ส.ส.และรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังคงเดินทางไปสักการะศาลเจ้าแห่งนี้อยู่เป็นประจำ ซึ่งทุกครั้งก็เรียกเสียงประณามจากจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งเคยตกอยู่ภายใต้การยึดครองอย่างป่าเถื่อนของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20
นักการเมืองฝ่ายขวาของญี่ปุ่นซึ่งเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ มองว่าต่างชาติกำลังหยิบยกประวัติศาสตร์ยุคสงครามมาวิพากษ์วิจารณ์ญี่ปุ่นอย่างไม่เป็นธรรม และคำตัดสินของศาลสัมพันธมิตรก็เป็นเพียง “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” ทั้งที่จริงแล้ว การขยายแสนยานุภาพของญี่ปุ่นในยุคนั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่มหาอำนาจยุโรปทำเลย