เอเอฟพี – ชาวฮังการีกว่า 10,000 คนออกมาชุมนุมประท้วงใจกลางกรุงบูดาเปสต์เมื่อวานนี้(26) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนเก็บภาษีการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมชี้ว่าเป็น “แนวคิดถอยหลังเข้าคลอง” ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตัวนายกรัฐมนตรีที่เริ่มดังขึ้นทุกขณะ
ผู้ประท้วงได้เดินขบวนไปยังที่ทำการพรรคฟิเดสซ์ (Fidesz Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาของนายกรัฐมนตรี วิกเตอร์ ออร์บัน พร้อมป่าวร้องสโลแกน “ฟรี ฮังการี, ฟรี อินเทอร์เน็ต” และทิ้งคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ใช้แล้วเอาไว้เป็นสัญลักษณ์ที่หน้าประตู
ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุรายงานว่า บรรยากาศการชุมนุมเริ่มตึงเครียดเมื่อตำรวจปราบจลาจลถูกส่งเข้ามาปิดล้อมอาคารดังกล่าว ขณะที่ผู้ชุมนุมก็ขว้างปาข้าวของใส่จนกระจกแตกไปหลายบาน
ก่อนหน้านั้น ชาวฮังการีหลายพันคนได้เปิดไฟสมาร์ทโฟนชูขึ้นไปในอากาศที่หน้ากระทรวงเศรษฐกิจ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ตามอย่างผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง
“จะไม่มีการเก็บภาษีอินเทอร์เน็ตเด็ดขาด พวกเราไม่ยอม” บาลาซส์ กุลยาส แกนนำผู้ชุมนุมกล่าวท่ามกลางเสียงเชียร์
“ถ้ารัฐบาลไม่ยกเลิกแผนเก็บภาษีอินเทอร์เน็ตภายใน 48 ชั่วโมง เราจะกลับมาอีก”
มิฮาลีย์ วาร์กา รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจฮังการี ได้เสนอแผนเก็บภาษีชนิดนี้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา(21) โดยจะเรียกเก็บในอัตรา 150 ฟอรินต์ (ประมาณ 0.5 ยูโร หรือ 20 บาท) ต่อการส่งข้อมูล 1 กิกะไบต์ เพื่อช่วยเพิ่มวงเงินงบประมาณสำหรับปี 2015 แก่ฮังการี ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีหนี้สินรุงรังที่สุด
นายกรัฐมนตรี ออร์บัน ถูกวิจารณ์ว่าทำตัวเยี่ยงเผด็จการเข้าไปทุกที โดยผู้จัดการชุมนุมบอกกับเอเอฟพีว่า พวกเขาเชื่อว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของการเก็บภาษีอินเทอร์เน็ตก็เพื่อปิดปากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อแสดงความคิดเห็น
ชาวฮังการีส่วนใหญ่ยังเกรงว่า การเก็บภาษีอินเทอร์เน็ตอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจรายย่อย และทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลหรือสื่อการเรียนรู้ได้ยากลำบากขึ้น โดยเฉพาะในชุมชนยากจน
“นี่เป็นแนวคิดแบบถอยหลังเข้าคลอง หลายๆ ประเทศก็สนับสนุนให้พลเมืองเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้นทั้งนั้น” จูดิต นากี-กอร์ซา ผู้ประท้วงวัย 55 ปี กล่าว
ท่าทีของรัฐบาลฮังการียังสร้างความกังวลต่ออียู โดย นีลี โกรส์ กรรมาธิการยุโรปว่าด้วยการใช้สื่อดิจิทัล ได้ทวีตข้อความว่า “ช่างเป็นความอัปยศสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและรัฐบาลฮังการีเอง”
หลังจากนั้นไม่นาน พรรคฟิเดลซ์ได้ปรับข้อเสนอใหม่เป็นการเก็บภาษีอินเทอร์เน็ต 700 ฟอรินต์ต่อเดือน (ประมาณ 94 บาท) สำหรับประชาชนทั่วไป และ 5,000 ฟอรินต์ต่อเดือน (667 บาท) สำหรับภาคธุรกิจ แต่ก็ไม่ช่วยให้ประชาชนคลายความขุ่นเคืองลง
ออร์บัน วัย 51 ปี ซึ่งได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองด้วยจำนวนที่นั่ง ส.ส. ในสภาถึง 2 ใน 3 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กำลังเผชิญแรงกดดันทางการเมืองอย่างหนักในช่วงนี้ หลังสหรัฐฯ ประกาศแบนวีซาเจ้าหน้าที่รัฐบาลฮังการีหลายรายที่พัวพันการทุจริตคอร์รัปชัน
นักการทูตสหรัฐฯในกรุงบูดาเปสต์ออกมาเตือนเมื่อวันศุกร์(24)ว่า “แนวโน้มเชิงลบ” เช่น หลักนิติธรรมที่อ่อนแอและการข่มขู่พลเมืองกำลังเข้า “ครอบงำ” ฮังการีอย่างรวดเร็ว
ในบรรดาผู้ประท้วงชาวฮังการี มีหลายคนที่ชูธงสหภาพยุโรปและธงชาติสหรัฐฯ พร้อมป้ายข้อความประณาม “รัฐบาลมาเฟีย”