รอยเตอร์/เอเอฟพี - องค์การอนามัยโลกระบุเมื่อวันพฤหัสบดี (23ต.ค.) มาตรการคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าเพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้ออีโบลาเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด อาจได้ผลแค่ในวงจำกัด แต่ก็ยกให้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลนั้นๆ หลังหลายชาติงัดวิธีการอันเข้มงวดนี้มารับมือกับไวรัสมรณะ
คำแนะนำจากคณะกรรมาธิการฉุกเฉินด้านอีโบลาขององค์การอนามัยโลกมีขึ้น 1 วัน หลังจากสหรัฐฯออกข้อบังคับให้นักเดินทางที่มาจาก 3 ชาติแอฟริกาตะวันตก ศูนย์กลางของการแพร่ระบาด ต้องบินเข้าพรมแดนผ่านท่าอากาศยานหลักที่กำหนดไว้ 5 แห่ง ที่ได้เพิ่มมาตรการคัดครองเพื่อรับมือกับไวรัสมรณะชนิดนี้
“การคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าเพิ่มเติมจากการคัดกรองขาออก อาจได้ผลแค่ในวงจำกัดในการลดการแพร่ระบาดระหว่างประเทศ และควรมีการพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียอย่างระมัดระวัง” คณะกรรมาธิการระบุในถ้อยแถลงหลังการประชุมครั้งที่ 3 พร้อมบอกว่าเวลานี้ก็มีการคัดกรองผู้โดยสารขาออกจากไลบีเรีย เซียร์ราลีโอนและกินีอยู่ก่อนแล้ว และมาตรการนี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับลดความเสี่ยงนำเชื้อไวรัสออกไปนอกเหล่าประเทศที่ได้รับผลกระทบ
คณะกรรมาธิการที่ประกอบด้วยเหล่าผู้เชี่ยวชาญ กล่าวเแนะนำเพิ่มเติมว่าบางประเทศที่บังคับใช้มาตรการคัดกรองขาเข้าแล้ว ควรแบ่งปันประสบการณ์และบทเรียนที่ได้รับกับชาติอื่นๆด้วยว่ามันได้ผลมากน้อยแค่ไหน แต่ขณะเดียวกันประเทศต่างๆเหล่านั้นก็ควรทราบว่าแม้มาตรการคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าจะช่วยกันบุคคลอ่อนไหวออกจากความเสี่ยงติดเชื้อ แต่การคัดกรอง ณ แหล่งที่มานั้นน่าจะมีความจำเป็นมากกว่า
องค์การอนามัยโลกเผยเมื่อวันพุธ (22 ต.ค.) โรคระบาดนี้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 4,877 ศพจากผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 9,936 คน อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าตัวเลขนี้ต่ำกว่าความเป็นจริง และยอดที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้มากถึง 3 เท่า
คณะกรรมาธิการยอมรับว่ามีบางประเทศซึ่งยังไม่พบผู้ติดเชื้ออีโบลา ได้ยกเลิกการประชุมนานาชาติและรวมตัวของคนหมู่มาก ซึ่งคณะกรรมาธิการไม่แนะนำ แต่ก็ยอมรับว่าการตัดสินใจเหล่านั้นเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ่อนและควรพิจารณาเป็นกรณีๆไปบนพื้นฐานของความเสี่ยง
แม้ทางคณะกรรมธิการเคยเตือนว่าไม่ควรห้ามการค้าหรือการเดินทางระหว่างประเทศ แต่ก็มีหลายชาติ ในนั้นรวมถึงเฮติ สาธารณรัฐโดมินิกัน โคลอมเบีย จาไมกาและเกาหลีเหนือ ต่างออกข้อจำกัดต่อนักเดินทางขาเข้าแตกต่างกันออกไป เรื่องนี้ทำให้คณะธรรมาธิการต้องเน้นย้ำถึงคำแนะนำดังกล่าวอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (23 ต.ค.)
“เป็นไปได้ที่มาตรการห้ามเดินทางจะก่อความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ และผลที่สุดคือควบคุมคนอพยพจากเหล่าประเทศที่ได้รับผลกระทบยากยิ่งขึ้น เพิ่มความเสี่ยงที่อีโบลาแพร่กระจายไปสู่สากล” คณะกรรมาธิการระบุ “คณะกรรมาธิการขอเน้นถึงความสำคัญของการสัญจรทางอากาศและการเดินเรือตามปกติ ในนั้นรวมถึงการขนส่งสินค้าเข้าและออกจากพื้นที่ได้รับผลกระทบ เพื่อลดความโดดเดี่ยวและความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของชาติเหล่านั้น”