รอยเตอร์ - วานนี้ (20 ต.ค.) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้ความรุนแรงทางเพศ ในวิกฤตขัดแย้งที่มีการจับอาวุธชี้ว่า การข่มขืน และการใช้ความรุนแรงทางเพศในรูปแบบอื่นๆ โดยทุกฝ่ายที่ก่อสงครามกลางเมืองในซูดานใต้ ได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางจนกระทั่งมีเด็ก 2 ขวบตกเป็นเหยื่อ
ขณะเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังถึงสิ่งที่พบเห็นระหว่างการเดินทางลงพื้นที่เมื่อเร็วๆ นี้ ที่เมืองบองตีอู ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามหนักสุดในซูดานใต้ ไซนาบ ฮาวา บังกูรา ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นบอกว่า “ดิฉันเกิดมา 30 ปี แต่ยังไม่เคยเห็นอะไรอย่างที่เกิดขึ้นในบองตีอูมาก่อน”
“(ผู้พลัดถิ่นในประเทศ) ที่พยายามหาที่หลบภัยที่นั่น ต้องเผชิญกับทั้ง...ความไม่ปลอดภัย สภาพความเป็นอยู่ที่เกินจินตนาการ ต้องเอาชีวิตรอดไปวันๆ และตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศที่เกินควบคุม”
เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว การสู้รบได้ปะทุขึ้นในซูดานใต้ ซึ่งประกาศเอกราชจากซูดานเมื่อปี 2011 ภายหลังเกิดสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประธานาธิบดี ซัลวาร์ คีร์ แห่งซูดานใต้ กับอดีตรองประธานาธิบดี รีค มาชาร์ ที่ถูกเขาปลดจากตำแหน่ง แล้วผันตนเป็นหัวหน้ากลุ่มกบฏ ในขณะที่การเจรจาสันติภาพที่กลุ่มชาติแอฟริกาตะวันออก IGAD ผลักดันก็ยังไม่สามารถยับยั้งเหตุนองเลือดในประเทศนี้
บังกูรากล่าวว่า “ผู้รอดชีวิต และเจ้าหน้าที่การแพทย์เล่าให้ฉันฟังถึงเรื่องน่าสลดอย่างการข่มขืน การรุมโทรม การลักพาตัว การจับเป็นทาสบำเรอกาม และการบังคับแต่งงาน คนที่พยายามสู้ผู้ก่อเหตุก็จะถูกใช้วัตถุเป็นเครื่องมือข่มขืนแทน เหยื่อบางคนถูกข่มขืนจนเสียชีวิต”
เธอกล่าวว่า ผู้ตกเป็นเหยื่อมีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็กผู้หญิง และเด็กผู้ชาย โดย 74 เปอร์เซ็นต์มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทั้งนี้ตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลซูดานใต้
บังกูรากล่าวว่า “เหยื่อที่มีอายุน้อยที่สุดเข้ารับการรักษาตัวมีอายุเพียง 2 ขวบ”
เธอกล่าวว่า สองขั้วตรงข้ามในสงครามกลางเมืองต่างก่อเหตุรุนแรงทางเพศกันทั้งคู่ พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า มีการสั่งการภายในกองทัพให้ทหารข่มขืนคนต่างชาติพันธุ์
บังกูรา กล่าวว่า สถานีโทรทัศน์ในบองตีอูที่มีชื่อว่า “บองตีอูเอฟเอ็ม” ถูกใช้เป็นช่องทางเรียกร้องให้ผู้ชายข่มขืนสตรี และเด็กผู้หญิงต่างชาติพันธุ์ และฝ่ายที่มีจุดยืนแตกต่างกันในประเด็นการเมือง
บังกูรา กล่าวเสริมว่า ในช่วงสุดท้ายของการเดินทางลงพื้นที่ของบังกูรา เธอและรัฐบาลซูดานใต้ได้เซ็นแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งกำหนดมาตรการเพื่อยับยั้งการข่มขืน พร้อมกับระบุเพิ่มเติมว่า จะต้องมีการเผยแพร่หนังสือฉบับนี้ให้หน่วยทหารในบังคับของกองบัญชาการกองทัพซูดานใต้ได้รับรู้โดยทั่วกัน
นอกจากนี้ เธอกังวลอย่างยิ่งต่อปัญหาหาการขาดแคลนการเยียวยาสภาพจิตใจ และร่างกายของเหยื่อความรุนแรงทางเพศ
เธอกล่าวว่า “ดิฉันกังวลในเรื่องที่ไม่มีคนรายงานอาชญากรรมเช่นนี้ให้รับรู้ เนื่องจากหน่วยงานรัฐบาลถูกปิด และสถานการณ์ความไม่มั่นคงในประเทศ กรมตำรวจไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ปกติ (และ) การขาดความสามารถของตำรวจและผู้ให้บริการทางการแพทย์”
องค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า ความขัดแย้งในซูดานใต้ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 10,000 คน ประชาชนพลัดถิ่นที่อยู่กว่า 1 ล้านคน และทำให้ประเทศที่มีประชากร 11 ล้านคนแห่งนี้ใกล้อดอยาก โดยภายในสิ้นปีนี้ 1 ใน 3 ของประชาชนอาจต้องประสบภัยจากการขาดแคลนอาหาร
เมื่อเดือนที่แล้ว องค์การสหประชาชาติได้เตือนให้ คีร์ และมาชาร์ เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพอย่างจริงจัง เพื่อยุติความรุนแรงในซูดานใต้ ที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 1 ปี มิฉะนั้นจะถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติคว่ำบาตร