xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: UN วอนทั่วโลกยกระดับต่อสู้ “อีโบลา” WHO เตือนไวรัสเสี่ยงแพร่สู่ “เอเชียตะวันออก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาในแอฟริกาตะวันตกยังคงเป็นวิกฤตสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่ทั่วโลกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการสัญจรข้ามประเทศในยุคโลกาภิวัตน์กลายเป็นช่องทางที่ทำให้เชื้อมรณะแพร่ไปอย่างรวดเร็ว ล่าสุดองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และสหรัฐฯ ได้ออกมาเรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสมรณะชนิดนี้แผ่ลามไปยังภูมิภาคอื่นๆของโลก

เสียงเรียกร้องจาก บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ และประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ มีขึ้น ในขณะที่แพทย์และพยาบาลในไลบีเรียซึ่งเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่เชื้ออีโบลากำลังระบาดหนักที่สุด ได้พากันนัดหยุดงานเพื่อบีบให้รัฐจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น แลกกับการที่พวกเขาต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงกับการใกล้ชิดผู้ป่วยโรคร้าย

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเหล่านี้ถือเป็น “แนวหน้า” ที่ต้องต่อสู้กับการระบาดของเชื้ออีโบลา ไวรัสมรณะซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ร้ายแรงที่สุดในยุคใหม่”

ทำเนียบขาวแถลงว่า โอบามา และ บัน ร้องขอให้ทุกประเทศแสดงเจตนารมณ์อย่างแข็งขัน และเร่งส่งความช่วยเหลือด้านบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นไปยัง 3 ประเทศแอฟริกาตะวันตก เพื่อให้อีโบลาถูกสกัดตั้งแต่ต้นทาง หลังมีสัญญาณเตือนที่น่ากลัวเมื่อพบผู้ติดเชื้ออีโบลาภายนอกทวีปแอฟริกาแล้วอย่างน้อย 2 ราย คือพยาบาลในสหรัฐฯ และสเปนซึ่งดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาจากทวีปแอฟริกา

ท่ามกลางกระแสความหวาดกลัวที่แผ่ลามไปทั่วอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าตัวไวรัสเองเสียอีกนั้น WHO ก็ได้ออกมาเตือนว่า วิกฤตคราวนี้เลวร้ายยิ่งกว่าครั้งใดๆ ที่ผ่านมา

“ดิฉันไม่เคยพบเจอปัญหาด้านสาธารณสุขใดที่จะเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของสังคมและรัฐบาลของประเทศที่ยากจนข้นแค้นอยู่แล้วเช่นนี้มาก่อน” มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการ WHO ระบุในถ้อยแถลง ณ เวทีเสวนาที่กรุงมะนิลา พร้อมเตือนว่าหากประชาคมโลกยังไม่มีมาตรการสกัดกั้นที่ได้ผล จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในกินี เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย จะพุ่งสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง

ชาน ยังเตือนให้ประเทศแถบเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเตรียมมาตรการป้องกันอย่างแข็งขัน เพราะมีแนวโน้มสูงที่ไวรัสมรณะชนิดนี้จะถูกนำออกจากทวีปแอฟริกาไปแพร่ยังภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก

“พวกคุณจะมาสร้างระบบป้องกันหลังวิกฤตเกิดขึ้นแล้วไม่ได้ ทุกอย่างจะพังครืนหมด และระบบสาธารณสุขที่ด้อยประสิทธิภาพย่อมหมายความว่า ประชากรทุกคนจะไม่มีความยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติที่โลกทยอยส่งมาให้เราต้องเผชิญบ่อยขึ้น และหนักหนาสาหัสขึ้นทุกวัน”

ด้าน ชิน ยังซู ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกของ WHO บอกกับที่ประชุมคราวนี้ว่า “มีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน” ที่คนไข้ติดเชื้ออีโบลาจะถูกนำเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ ซึ่งมีทั้งศูนย์กลางการขนส่งขนาดยักษ์ ตลอดจนการค้าและการเดินทางท่องเที่ยวที่คึกคัก ทั้งนี้ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกตามคำนิยายของ WHO ครอบคลุมจีนและชาติเอเชียตะวันออกอื่นๆ, หลายส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ตลอดจนประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก

“หากอีโบลาเข้าโจมตีภูมิภาคนี้จริง ผลพวงต่อเนื่องจะใหญ่โตมโหฬาร… เราจะต้องกล้าเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยกับความท้าทายต่างๆ ซึ่งภูมิภาคของเรากำลังประสบอยู่ เพื่อที่จะบริหารจัดการภัยคุมคามนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ชิน กล่าว

ไวรัสอีโบลาได้คร่าชีวิตเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไลบีเรียไปแล้วอย่างน้อย 95 ราย ส่วนคนที่เหลืออยู่ก็หวาดผวา และต้องการค่าตอบแทนที่คุ้มต่อความเสี่ยงที่พวกเขากำลังเผชิญกันอยู่ โดยไวรัสอีโบลานั้นสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสของเหลวหรือสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ป่วย และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่จะป้องกันหรือรักษาได้

ที่กรุงมันโรเวีย คนไข้รายหนึ่งเล่าให้สถานีวิทยุท้องถิ่นทราบถึงสถานการณ์อันน่าเศร้า เมื่อผู้ป่วยที่กำลังจะตายถูกบรรดาหมอและพยาบาลทอดทิ้ง

“ตอนนี้เราอยู่ที่ศูนย์รักษาอีโบลา แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนเข้ามาดูแลเลย... เมื่อคืนนี้มีคนไข้ตายไปหลายคน ส่วนพวกที่ยังเดินไหวก็พยายามปีนข้ามกำแพงหลบหนีออกไป”

ผู้สื่อข่าวไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายในคลินิกรักษาผู้ป่วยอีโบลาในไลบีเรีย ดังนั้น จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าสถานการณ์ภายในเป็นเช่นใด

สัปดาห์ที่แล้ว เทเรซา โรเมโร พยาบาลชาวสเปนวัย 44 ปี ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้ออีโบลาจากมิชชันนารีชาวเมืองกระทิงดุที่เธอให้การดูแล และมาสัปดาห์นี้ก็มีพยาบาลหญิงในรัฐเทกซัสอีกรายหนึ่งประสบชะตากรรมเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าแผนป้องกันของชาติตะวันตกที่คิดว่ารัดกุมแล้ว ที่แท้ก็ยังมี “ช่องโหว่” และจากกรณีนี้ก็ทำให้หน่วยงานสาธารณสุขสหรัฐฯออกมาย้ำความจำเป็นที่จะต้อง “ทบทวน” มาตรการต่อต้านโรคระบาดชนิดนี้เสียใหม่

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า พยาบาลสาวในรัฐเทกซัสซึ่งเป็นผู้ติดเชื้ออีโบลาในประเทศรายแรกของสหรัฐฯ และเป็นรายที่ 2 ของโลกที่ได้รับเชื้อนอกทวีปแอฟริกา มีชื่อว่า นินา ฟาม วัย 26 ปี โดยผลตรวจเชื้ออีโบลาในเลือดของเธอเป็น “บวก” หลังจากที่ให้การดูแล โทมัส อีริค ดันแคน คนไข้ชาวไลบีเรียที่เดินทางเข้าสหรัฐฯมาโดยไม่แสดงอาการป่วยใดๆ และเพิ่งจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา

พยาบาลรายนี้ถูกแยกรักษาเดี่ยวที่โรงพยาบาล เทกซัส เฮลธ์ เพรสไบทีเรียน และมีอาการดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเธอติดเชื้อจากคนไข้ได้อย่างไร

แม้อาการของ ฟาม จะดีขึ้นแล้ว แต่ล่าสุดเมื่อวันพุธ(15) สำนักงานสาธารณสุขรัฐเทกซัสแถลงว่า พบพยาบาลอีกคนที่ดูแล ดันแคน ได้ป่วยเป็นไข้ในวันอังคาร(14) และผลการทดสอบเบื้องต้นแสดงว่าติดเชื้ออีโบลา โดยที่ได้นำตัวพยาบาลผู้นี้แยกไปรับการรักษาในส่วนกักกันโรคแล้ว

ด้าน โรนา แอมโบรส รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขแคนาดา ประกาศว่า รัฐบาลแคนาดาจะเริ่มนำตัวยา VSV-EBOV ซึ่งเป็นวัคซีนรักษาอีโบลาขั้นทดลองมาทดสอบในมนุษย์เป็นครั้งแรก โดยจะทราบผลการรักษาเบื้องต้นภายในเดือนธันวาคมนี้

ตัวเลขล่าสุดของ WHO ชี้ว่า การแพร่ระบาดของอีโบลาครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์หนนี้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 4,447 ศพ จากจำนวนผู้ติดเชื้อ 8,914 คน ขณะที่ บรูซ อัลวาร์ด รองผู้อำนวยการ WHO ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้ออีโบลาเพิ่มขึ้นแตะราวๆร้อยละ 70 ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้ออาจสูงถึง 10,000 คนต่อสัปดาห์ในช่วงต้นเดือนธันวาคม

กำลังโหลดความคิดเห็น