xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มแล็บตรวจเชื้อ “อีโบลา” 3 แห่งในภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. เตรียมเพิ่มแล็บตรวจเชื้ออีโบลาเพิ่มในภูมิภาค 3 แห่ง คณะแพทยศาสตร์ มช. มอ. และขอนแก่น หวังเพิ่มศักยภาพประเทศ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมวอร์รูมเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ว่า องค์การอนามัยโลกรายงานสถานการณ์ล่าสุดถึงวันที่ 1 ต.ค. มีผู้ป่วยโรคอีโบลา 7,470 ราย เสียชีวิต 3,431 ราย พบผู้ป่วยใหม่ในรอบ 21 วัน เพิ่มขึ้นใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไลบีเรีย กินี และ เซียร์ราลีโอน รวม 2,866 ราย เสียชีวิต 1,031 ราย มากที่สุดคือ ไลบีเรีย มีผู้ป่วย 1,427 ราย พื้นที่ระบาดประมาณร้อยละ 71 ของพื้นที่ใน 3 ประเทศดังกล่าว ส่วนสถานการณ์ในประเทศไนจีเรีย และ เซเนกัล สามารถควบคุมโรคได้ ไม่มีผู้ป่วยในรอบ 21 วัน ส่วนที่ประเทศดีอาร์คองโก สธ. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะจากการประเมินความเสี่ยง มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีผู้ติดเชื้อจากพื้นที่ระบาดเดินทางเข้ามาเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา จึงต้องคง 5 มาตรการความพร้อมในการรับมืออยู่ตลอดเวลา คือ 1. ประเมินความเสี่ยงและการเฝ้าระวังสัญญาณอาการป่วย 2. ระบบสอบสวนป้องกันโรค 3. ระบบการดูแลรักษาของโรงพยาบาล 4. ระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และ 5. การสื่อสารความเสี่ยง

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการตรวจเชื้ออีโบลาทางห้องปฏิบัติการสามารถทำได้ 2 แห่ง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ได้เตรียมประสานกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอีก 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น เพื่อให้สามารถตรวจยืนยันเชื้อได้รวดเร็วขึ้น และย่นระยะเวลาเดินทางส่งไปตรวจที่ กทม. โดยมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้ประสานงาน

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สถานการณ์ผู้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจากประเทศที่มีการระบาดตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. - 5 ต.ค. มีทั้งหมด 1,961 คน ส่วนใหญ่มาจากไนจีเรียและกินี ยังไม่พบรายใดมีไข้ ส่วนด้านงบประมาณในการเตรียมพร้อมรับมือโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ขณะนี้ได้รับอนุมัติจากงบกลางในการป้องกันโรควงเงิน 99.5 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง การจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกัน เช่น ชุดปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งวัสดุที่ใช้ในห้องตรวจปฏิบัติการ พัฒนาห้องตรวจโรคที่ด่านสุวรรณภูมิ และการจัดซ้อมแผนบูรณาการระหว่างกระทรวงกับหน่วยงานอื่น

ขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังช่วยเหลือผู้ป่วยโรคอีโบลาในกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตก แต่พบว่ามีปัญหาเตียงไม่พอ และขาดบุคลากรจำนวนมาก สหประชาชาติมีความต้องการบุคลากรจากนานาชาติประมาณ 656 คน เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ใน 5 ประเด็น คือ 1. หยุดการระบาด 2. รักษาพยาบาล 3. ดูแลระบบอุปโภคบริโภคสาธารณสุข 4. การรักษาเสถียรภาพ ความมั่นคงประเทศ และ 5. การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ประเทศอื่น โดย สธ.จะประสานหน่วยงานที่มีหน่วยงานในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือในฐานะประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกต่อไป” อธิบดี คร. กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

รุ่นพี่เทคโนฯสวนนันขอขมาอธิการบดี กรณีหยดน้ำตาเทียนใส่รุ่นน้อง ขณะที่ผลสอบวินัยสั่งลงโทษไม่ร้ายแรง ตักเตือน 23 คน ภาคทัณฑ์ 10 คน ตัดคะแนนความประพฤติอีก 10 คน

ดูบน Instagram





กำลังโหลดความคิดเห็น