รอยเตอร์ - สหรัฐฯ จัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วซึ่งจะเดินทางไปถึงโรงพยาบาลต่างๆ ภายในไม่กี่ชั่วโมง หากมีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้ออีโบลา ขณะที่พยาบาลสาวในเมืองดัลลัสที่ติดเชื้อไวรัสมรณะจากคนไข้ชาวไลบีเรียเริ่มมีอาการดีขึ้นแล้ว
แนวโน้มที่การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาจะสิ้นสุดลงโดยเร็วอาจเป็นไปได้ยาก เมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ทำนายว่า ไลบีเรีย กินี และเซียร์ราลีโอน ซึ่งเป็น 3 ประเทศยากจนในแอฟริกาตะวันตกที่มีการระบาดหนักที่สุด จะพบผู้ติดเชื้อใหม่สูงถึง 10,000 คนต่อสัปดาห์ภายในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้
ดร.โทมัส ไฟรเดน ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (ซีดีซี) ยอมรับถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษาชายชาวไลบีเรียที่เมืองดัลลัสเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
“ผมเสียดายที่เราไม่ได้จัดทีมเคลื่อนที่เร็วตั้งแต่วันที่พบผู้ติดเชื้อคนแรก... แต่เราก็จะเริ่มลงมือทำจากนี้เป็นต้นไป หากพบผู้ป่วยรายอื่นๆ ในสหรัฐฯ”
“เราจะไปถึงและพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่โรงพยาบาลต่างๆ ภายในไม่กี่ชั่วโมง”
พยาบาลสาวซึ่งติดเชื้ออีโบลาจาก โทมัส อีริก ดันแคน คนไข้ชาวไลบีเรีย ให้สัมภาษณ์ที่โรงพยาบาลในเมืองดัลลัส รัฐเทกซัส ว่าเธอรู้สึกสบายขึ้น ขณะที่โรงพยาบาล เทกซัส เฮลธ์ เพรสไบทีเรียน ก็ได้แถลงยืนยันเช่นกันว่า นินา แพม วัย 26 ปี “อาการดีขึ้น” จริงๆ
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ได้แถลงต่อผู้บัญชาการทหารราว 20 ประเทศเมื่อวันอังคาร (14) ว่า “ทั่วโลกยังไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างจริงจัง” ในการต่อสู้กับไข้เลือดออกอีโบลา และจะต้องช่วยกันสกัดโรคนี้ไว้ที่แหล่งกำเนิดของมัน
ทำเนียบขาวระบุว่า โอบามา จะจัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้นำอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และอิตาลีในวันนี้ (15) เพื่อหารือแนวทางรับมือวิกฤตสาธารณสุขครั้งใหญ่ ตลอดจนประเด็นระหว่างประเทศอื่นๆ
หน่วยงานสาธารณสุขยอมรับว่า การระบาดของเชื้ออีโบลาในแอฟริกาตะวันตกถือว่ารุนแรงเป็นประวัติการณ์ และได้คร่าชีวิตผู้ป่วยไปแล้วถึง 4,447 ราย โดยโรคนี้สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ป่วย เช่น เลือดและน้ำลาย เป็นต้น
แพม ถือเป็นบุคคลแรกที่ได้รับเชื้ออีโบลาในสหรัฐฯ ระหว่างที่เธอดูแล ดันแคน ตลอด 11 วันที่เขารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา
เมื่อวันจันทร์ (13) แพทย์ได้ทำการถ่ายเลือดที่มีแอนติบอดีต่อสู้เชื้อไวรัสให้แก่ แพม โดยองค์กร Samaritan’s Purse ซึ่งเป็นกลุ่มบรรเทาทุกข์คริสเตียน ระบุว่า ดร.เคนท์ แบรนต์ลีย์ นายแพทย์ซึ่งรอดชีวิตจากการติดเชื้ออีโบลา เป็นผู้บริจาคพลาสมาให้แก่เธอ ส่วน ดันแคน ไม่เคยได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ เนื่องจากหมู่เลือดของเขาไม่ตรงกับเลือดของผู้บริจาค
“ดิฉันสบายดีขึ้นมาก และขอขอบคุณทุกๆ คนที่ส่งกำลังใจและคำอวยพรมาให้” พยาบาลสาวผู้นี้ระบุในถ้อยแถลงที่ทางโรงพยาบาลประกาศ
ดร.ไฟรเดน เผยต่อสื่อมวลชนว่า บุคคล 48 คนที่เคยใกล้ชิดกับ ดันแคน “ผ่านช่วงเวลาสุ่มเสี่ยงที่สุด” ที่จะแสดงอาการป่วยหากติดเชื้ออีโบลาแล้ว ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอีก 76 คนที่อาจจะสัมผัสกับผู้ป่วยรายนี้หลังจากที่เขาถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 28 กันยายน ยังต้องรอดูอาการต่อไป ซึ่งในกลุ่มนี้รวมถึง แพม และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคนอื่นๆ