xs
xsm
sm
md
lg

“ตุรกี” อนุญาตให้สหรัฐฯใช้ “ฐานทัพอากาศ” โจมตีกลุ่มติดอาวุธ “ไอเอส”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพการโจมตีอย่างรุนแรงภายในเมืองโคบานี บริเวณพรมแดนซีเรีย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม
เอเอฟพี – รัฐบาลตุรกีอนุญาตให้สหรัฐฯ เข้าไปใช้ฐานทัพอากาศต่างๆ ของตนเพื่อปราบปรามกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) รวมไปถึงฐานทัพสำคัญที่อยู่ติดชายแดนซีเรีย เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงกลาโหมตุรกีเผยเมื่อวานนี้(12)

เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อระบุว่า ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายยังอยู่ระหว่าง “ตกลงรายละเอียด”

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้เข้าไปใช้ฐานทัพอากาศอินซีร์ลิก (Incirlik Air Base) ทางภาคใต้ของตุรกีเป็นเวลานานแล้ว และมีทหารอากาศประจำการอยู่ที่นั่นถึง 1,500 นาย

รายงานระบุว่า เครื่องบินขับไล่สหรัฐฯ ซึ่งเข้าไปทิ้งระเบิดโจมตีเป้าหมายไอเอสนั้น บินออกจากฐานทัพอากาศ อัล-ดาฟรา ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ฐานทัพอากาศ อาลี อัล-ซาเล็ม ในคูเวต และฐานทัพอากาศ อัล-อุดัยด์ ในกาตาร์ ซึ่งแห่งหลังสุดยังถือเป็นศูนย์บัญชาการสำคัญของกองกำลังสหรัฐฯในภูมิภาคนี้ด้วย

ที่ศูนย์ปฏิบัติการทางอากาศร่วม (CAOC) ในกาตาร์ เจ้าหน้าที่อเมริกันจะเฝ้าสังเกตการณ์การใช้อำนาจควบคุมน่านฟ้า, การป้องกันภัยทางอากาศ และสงครามอิเล็กทรอนิกส์ใน 20 ประเทศแถบนั้น โดยฐานทัพอากาศในกาตาร์มีทางวิ่งที่ยาวถึง 15,000 ฟุต และมีคลังอาวุธยุทโธปกรณ์อยู่มากพอสมควร จึงถือเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญ

สหรัฐฯ ส่งฝูงบินขับไล่ F-16 ไปประจำการที่จอร์แดนตั้งแต่ปีที่แล้ว และกระทรวงกลาโหมอเมริกันก็ยังมีข้อตกลงเรื่องการใช้ฐานทัพกับโอมาน

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังสามารถใช้ฐานทัพบนเกาะ ดิเอโก การ์เซีย ส่งเครื่องบิน B-52, B-1 และ B-2 ออกปฏิบัติภารกิจได้อีกด้วย

พลเรือตรี จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกเพนตากอน แถลงว่า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ชัค เฮเกล ได้ต่อโทรศัพท์ถึง อิสเม็ต ยิลมาซ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมตุรกี เพื่อขอบคุณที่อังการา “แสดงเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนปฏิบัติการของพันธมิตรนานาชาติ รวมถึงการฝึกฝนกบฏซีเรียสายกลาง”

เฮเกล กล่าวด้วยว่า “ตุรกีรู้จักพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างดี และแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาท้าทายต่างๆ ที่เกิดจากปฏิบัติการต่อต้านไอเอส ทั้งในแง่ของผู้ลี้ภัยและความมั่นคงชายแดน”

ก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรี อาเหม็ต ดาวูโตกลู แห่งตุรกี ได้เรียกร้องให้กองทัพสนับสนุน “กบฏซีเรียสายกลาง” เพื่อสร้าง “กองกำลังที่สาม” ขึ้นในซีเรียสำหรับต่อกรกับกองทัพที่ภักดีต่อประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด และพวกกลุ่มติดอาวุธไอเอส

เสียงเรียกร้องดังกล่าวมีขึ้น ในขณะที่กรุงอังการากำลังถูกนานาชาติกดดันให้ต้องช่วยปกป้องเมืองโคบานี เขตอิทธิพลของชาวเคิร์ดตรงพรมแดนซีเรียซึ่งกำลังถูกกลุ่มไอเอสรุกราน

ในเดือนนี้ รัฐสภาตุรกีได้อนุมัติให้รัฐบาลใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อต้านกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรีย ทว่าทางกองทัพกลับยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจน

หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่อังการาล้มเหลวในการเข้าแทรกแซงสถานการณ์ที่เมืองโคบานี วอชิงตันก็ได้รายงานเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว(10)ว่า การโน้มน้าวให้ตุรกียอมผนึกกำลังต่อสู้กลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง “มีความคืบหน้า”

เคอร์บีย์ ระบุว่า ระหว่างที่ เฮเกล พูดคุยโทรศัพท์กับรัฐมนตรีกลาโหมตุรกี เขาชี้ว่า กรุงอังการาตกลงที่จะให้การต้อนรับทีมวางแผนตั้งศูนย์บัญชากรร่วมกลางสหรัฐฯ-ยุโรป (US Central Command-European Command) ในสัปดาห์หน้า ซึ่งมีจุดประสงค์ “เพื่อพัฒนาทีมฝึกซ้อม”

“ผู้นำทั้งสองท่านย้ำความจำเป็นที่จะต้องใช้แนวทางเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมเพื่อรับมือภัยคุกคามจากกลุ่มไอเอส และกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงอื่นๆ”

“ท่านยังเห็นพ้องกันว่า ระบอบป่าเถื่อนของประธานาธิบดี อัสซาด เป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น และหมดสิ้นความชอบธรรมในการปกครองซีเรียมานานแล้ว” เคอร์บีย์ กล่าวทิ้งท้าย
กลุ่มควันจากการสู้รบในเมืองโคบานีของซีเรีย เมื่อมองจากเมืองซุรุก ในจังหวัดซานลิอูร์ฟาของตุรกี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม
รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ชัค เฮเกล แห่งสหรัฐฯ (ซ้าย) และ อิสเม็ต ยิลมาซ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมตุรกี
กำลังโหลดความคิดเห็น