xs
xsm
sm
md
lg

‘การประท้วงของนักศึกษา’ กับการเมืองแบบเดิมๆ สไตล์ฮ่องกงและปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Hong Kong tries talking, not gassing
By Peter Lee
07/10/2014

สำหรับผู้เฝ้าติดตามสังเกตการณ์การชุมนุมประท้วงที่ปะทุขึ้นในฮ่องกงเวลานี้ สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามละเลยก็คือ มันไม่ใช่มีแต่รัฐบาลฮ่องกงกับฝ่ายนักศึกษาของนครแห่งนี้ และถ้าหากจะมีการเจรจากันระหว่างทั้งสองฝ่ายนี้ มันก็ไม่ใช่เป็นแค่การที่พวกหนุ่มสาววัยรุ่นกำลังพูดจาบอกเล่าความจริงให้พวกผู้มีอำนาจได้รับรู้รับทราบ แท้ที่จริงแล้วมันเป็นสงครามทางการเมืองอันสลับซับซ้อนหลายชั้นเชิงหลายขั้นตอน ซึ่งแฝงฝังเอาไว้ด้วยการบรรจบกันของเงินทอง, การหลบหลีกกลบเกลื่อน, การขึ้นต่อ, การโฆษณาชวนเชื่อ, และการปลุกปั่นชักใย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันเป็นเรื่องราวของการเมืองแบบเดิมๆ ในสไตล์ของฮ่องกงและปักกิ่ง

[รัฐบาลฮ่องกงและพวกผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ตกลงเห็นพ้องกัน [ในช่วงดึกของวันที่ 6 ตุลาคม] ที่จะเริ่มต้นการเจรจาหารือกันอย่างเป็นทางการ ในขณะที่การชุมนุมซึ่งปิดถนนสำคัญหลายๆ สายและสำนักงานต่างๆ ในเมืองนี้ กำลังปรากฏสัญญาณของการถดถอยหดหายของผู้เข้าร่วม

เหล่าผู้แทนทั้งของฝ่ายรัฐบาลและของฝ่ายนักศึกษาแถลงกับผู้สื่อข่าวว่า การหารือเพื่อการเตรียมการครั้งที่ 2 ในตอนดึกของวานนี้ (6 ต.ค.) บังเกิดผลทำให้มีการตกลงกันในหลักการสำคัญๆ 3 ประการ อันได้แก่ การพูดจากันจะกระทำกันเป็นหลายๆ รอบ, การเจรจากันเหล่านี้จะจัดขึ้นโดยยอมรับความเท่าเทียมกันของทั้งสองฝ่าย, และรัฐบาลจะต้องยืนยันรับรองและนำเอาผลลัพธ์ของการเจรจาไปปฏิบัติ ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวว่า พวกเขาหวังว่าจะสามารถเริ่มต้นการเจรจากันอย่างเป็นทางการได้ก่อนวันที่ 12 ตุลาคม – รายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) วันที่ 7 ตุลาคม 2014]
[๑]

การทำหน้าที่เปิดม่านเบิกโรงของพวกนักศึกษาในฮ่องกง ดูเหมือนจะเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วสำหรับในตอนนี้ โดยที่ยังคงเหลือพวกนักศึกษาหัวเห็ดเพียงไม่กี่ร้อยคนซึ่งชุมนุมอยู่ ณ จุดชุมนุมหลักทั้ง 3 แห่ง ขณะที่มีรายงานว่าในบางช่วงเวลา ณ บางจุด พวกนักหนังสือพิมพ์ที่มาคอยทำข่าวมีจำนวนมากกว่าผู้ชุมนุมเสียอีก

แต่อย่าได้บังเกิดความเข้าใจเชียวนะครับว่า ขบวนการนี้กำลังค่อยๆ หมดเชื้อดับมอดลงแล้ว ในเมื่อพวกที่เป็นผู้ใหญ่โตๆ กันแล้ว ดูเหมือนกำลังจะพยายามนำเอาการเอ็กเซอร์ไซส์ทางการเมืองนี้ ยกระดับก้าวขึ้นสู่ขั้นใหม่ด้วยซ้ำไป

อลัน เหลียง (Alan Leong) คนนี้ไม่ใช่นักศึกษาแน่ๆ เพราะอายุ 56 ปีแล้ว เขาเป็นนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และเป็นนักการเมืองมายาวนาน เขาเคยลงสมัครเพื่อชิงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการ หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “ผู้บริหารสูงสุด” ของนครแห่งนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง เหลียง ออกมาให้สัมภาษณ์ มัลคอล์ม มัวร์ (Malcolm Moore) แห่ง เดลี่เทเลกราฟ (Daily Telegraph) เมื่อไม่กี่วันก่อน โดยที่หนังสือพิมพ์ออกในอังกฤษฉบับนี้ได้รายงานข่าวเอาไว้ดังนี้:

“เกือบ 95 เปอร์เซ็นต์ของฝูงชนที่มาร่วมชุมนุมกันอยู่ทุกๆ คืนเป็นเวลา 7 คืนแล้ว เป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 25 ปี” นี่เป็นคำกล่าวของ อลัน เหลียง วัย 56 ปี ซึ่งเป็นผู้นำของพรรคซีวิค (Civic party) ที่เป็นพรรคนิยมประชาธิปไตย

“คนเหล่านี้จะมีชีวิตอยู่แถวๆ นี้ต่อไปอีกเป็นเวลายาวนาน พวกเขาจะกลายเป็นนายใหญ่ของฮ่องกงในช่วงระยะ 40 ถึง 50 ปีข้างหน้า

“ผมขอท้าให้ สี จิ้นผิง [ประธานาธิบดีของจีน] ตอบคำถามนี้หน่อยเถอะ: กระทั่งถ้าหากคุณทุ่มเทใช้อำนาจอิทธิพลของคุณอย่างเต็มที่ และดังนั้นจะด้วยหมากกลใดๆ ก็ตามที คุณก็สามารถผลักดันให้ข้อเสนอของคุณ ผ่านการรับรอง (ของสภานิติบัญญัติของฮ่องกง –ผู้แปล) ไปจนได้ แต่ว่าคุณจะปกครองฮ่องกงต่อไปยังไง ในเมื่อคนเหล่านี้แหละคือประชาชนของพวกคุณในตลอด 5 ทศวรรษจากนี้ไป?”

ตัวมิสเตอร์เหลียงเองนั้น ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงไม่ยอมรับข้อเสนอของปักกิ่ง (ในเรื่องวิธีการเลือกตั้งผู้ว่าการฮ่องกงในปี 2017) พร้อมกับบอกด้วยว่า เขามีความมั่นใจมากว่าข้อเสนอนี้จะต้องถูกคว่ำจากการออกเสียงของสมาชิกฝ่ายนิยมประชาธิปไตย ในสภานิติบัญญัติของฮ่องกง

“ไม่ว่าคุณจะพยายามอำพรางปิดบังยังไงก็ตามที แต่จุดสำคัญที่สุดของเรื่องนี้ ถ้าหากคุณเปลื้องผ้าตีแผ่ให้ลึกลงไปจนถึงกระดูกแล้ว มันก็คือการที่ปักกิ่งต้องการให้มีการเตี๊ยมผลการเลือกตั้งเอาไว้ ตั้งแต่ก่อนที่ประชาชนจะมาลงคะแนนเลือกตั้งนั่นเอง มันล่อนจ้อนกันถึงขนาดนี้แหละ แล้วคุณจะพูดได้ยังไงว่าพรรคคอมมิวนิสต์กำลังเคารพปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่พวกเขาให้ไว้ในตอนรับมอบอธิปไตยของดินแดนฮ่องกง (จากอังกฤษ)?” เขากล่าวต่อ

“ตัวผมมั่นใจมากว่า ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเลือกตั้งที่ทางปักกิ่งส่งมานี้ จะต้องถูก (สภานิติบัญญัติฮ่องกง) วีโต้ยับยั้ง” [1]


ข้อเสนอที่ เหลียง กำลังพาดพิงถึงนี้ คือข้อเสนอจากทางรัฐสภาจีนในกรุงปักกิ่ง ที่จะให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเสนอชื่อชุดหนึ่งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองผู้สมัครที่จะสามารถลงแข่งขันในการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงในปี 2017 โดยที่ตัวกระบวนการเลือกตั้งเองนั้น จะกระทำกันด้วยวิธีให้ผู้มีสิทธิออกเสียงทุกคนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นการทั่วไป (universal suffrage) ทั้งนี้สภานิติบัญญัติฮ่องกงจะต้องลงมติผ่านร่างกฎหมายในเรื่องนี้ด้วยคะแนนเสียงสองในสาม จึงจะมีผลบังคับใช้ได้ ดังนั้นจึงมองเห็นกันว่า กลุ่มแนวร่วมของพวกสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายนิยมประชาธิปไตย น่าจะสามารถสกัดขัดขวางร่างกฎหมายฉบับนี้ได้สำเร็จ

นี่คือการข่มขู่คุกคามกันโดยแท้ ถ้าหากกระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการเสนอชื่อนี้ ไม่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงจนเป็นที่พออกพอใจของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยแล้ว มันก็จะต้องเกิดการสะดุดติดขัด และกระทั่งประสบกับชะตากรรมความเลวร้ายยิ่งกว่านั้นอีก

ภายในบริบทเช่นนี้ ผมหวนระลึกขึ้นมาถึงคำพูดของ จิมมี่ ไหล (Jimmy Lai) ผู้ทรงอำนาจของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ซึ่งกล่าวไว้ในระหว่างให้สัมภาษณ์ ฮิวโก เรสทอลล์ (Hugo Restall) แห่ง “หน้าทัศนะความเห็น” (opinion page) ของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal) เรสทอลล์เขียนเอาไว้อย่างนี้ครับ:

มิสเตอร์ไหลมีความปรารถนาที่จะให้การประจันหน้าดำเนินต่อไปอีก เพื่อให้ได้ข้อตกลงดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตลอดจนเป็นการปลุกระดมฮ่องกงให้ตื่นตัวขึ้นมา “เราจำเป็นต้องสร้างภาพขึ้นมาจากการลงมือปฏิบัติการ เพื่อที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกตื่นเต้นและเข้ามาร่วม” เขากล่าว “การที่จะให้ประชาชนออกมาลงมือปฏิบัติการ คุณไม่สามารถที่จะทำเพียงแค่สาธยายเหตุผลได้หรอก” [2]

ยุทธศาสตร์ของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงนั้น ตามความเห็นของผมแล้ว ได้แก่ การเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวฝ่ายบริหารของฮ่องกง และใช้เรื่องที่ฝ่ายบริหารฮ่องกงมีความความหวาดกลัวจะเกิดความไม่สงบ มาตอกลิ่มให้ฝ่ายนี้หันเหออกห่างจากปักกิ่ง และโน้มน้าวฝ่ายนี้ให้หันกลับมาเป็นทนายแก้ต่างซึ่งจะไปช่วยยืนยันกับทางปักกิ่งว่า ควรที่จะต้องยอมประนีประนอมอ่อนข้อให้แก่พวกนักปฏิรูป

การที่พวกเขากำหนดยุทธศาสตร์ออกมาเช่นนี้ สืบเนื่องจากแนวความคิดที่ว่าฝ่ายบริหารของฮ่องกงไม่ได้ทำหน้าที่ของตน ในเวลาที่ไปให้คำปรึกษาหารือแก่สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People's Congress ใช้อักษรย่อว่า NPC) ซึ่งก็คือ “รัฐสภาจีน” ในกรุงปักกิ่ง ในเรื่องอารมณ์ความรู้สึกและความมุ่งมาดปรารถนาต่างๆ ของสาธารณชนฮ่องกง เกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าการฮ่องกงปี 2017

ทั้งนี้ วอลล์สตรีทเจอร์นัล เขียนเอาไว้ว่า: มิสเตอร์ [ไมเคิล] เราส์ (Michael Rowse) [บุคคลผู้นี้เดิมเป็นข้าราชการพลเรือนของอังกฤษ แต่ยังคงทำงานรับราชการอยู่กับคณะผู้บริหารของฮ่องกงต่อไป ภายการส่งมอบอำนาจอธิปไตยกลับมายังจีนในปี 1997 โดยที่เขามีตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมการลงทุนต่างประเทศ] กล่าวว่า ความไว้วางใจกันระหว่างรัฐบาลฮ่องกงกับสาธารณชนชาวฮ่องกง เวลานี้อยู่ในภาวะแหลกสลายลงไปอย่างสิ้นเชิง ภายหลังจากกระบวนการปรึกษาหารือ (ในกรุงปักกิ่ง) เกี่ยวกับอนาคตในเรื่องประชาธิปไตยของนครแห่งนี้

“รายงานซึ่งทางฮ่องกงยื่นเสนอต่อปักกิ่งนั้น ผมคงต้องขอใช้คำว่า ... เอ้อ ... โกหกมดเท็จ” เขากล่าว “มันเป็นเรื่องของการสยบยินยอมกันเอาไว้ก่อนล่วงหน้าทีเดียว เป็นการสอบถามพวกเขาให้รู้ก่อนว่าพวกเขาปรารถนาที่จะได้ยินได้ฟังอะไร จากนั้นก็บอกเล่าให้พวกเขาฟังตามนั้น” [2] รัฐบาลของนครฮ่องกงไม่ได้เพียงแค่ยินยอมเท่านั้น หากถึงขนาด “สยบยินยอมกันเอาไว้ก่อนล่วงหน้า”

คำพูดอย่างนี้ของ เราส์ ฟังดูเหมือนกับเป็นการปูทางเอาไว้สำหรับการหยิบยกเปิดประเด็นเรื่องคณะกรรมการเสนอชื่อขึ้นมาถกเถียงอภิปรายกันใหม่อีกครั้ง (น่าสังเกตว่า ไม่ได้มีการพูดว่า “ปักกิ่งทรยศตระบัดสัตย์” กันอีกแล้ว อันที่จริง การโฆษณาป่าวร้องอันเป็นเท็จที่ถูกเผยแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วเช่นนั้น อาจจะดีพอแล้วสำหรับต้มตุ๋นพวกนักหนังสือพิมพ์และสาธารณชน ทว่ามันจะเป็นตัวทำให้วงแตกทีเดียว ถ้าหากหยิบยกนำมาพูดในการเจรจากับฝ่ายบริหารฮ่องกงและทางการปักกิ่ง)

แล้วข้อตกลงที่พวกเขาต้องการล่ะ? เราคงต้องกลับมาดูข้อเขียนของ เรสทอลล์ ใน วอลล์สตรีทเจอร์นัลอีก เขาเขียนเอาไว้อย่างนี้ครับ:

[เราส์] เสนอแนะว่า ในขณะที่ปักกิ่งต้องการให้ผู้สมัครทุกๆ คนที่จะลงแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งผู้นำของฮ่องกงในปี 2017 ต้องผ่านการเสนอชื่อจากคณะกรรมการชุดหนึ่งเสียก่อน ทางฝ่ายสาธารณชนฮ่องกงก็อาจใช้วิธีเสนอชื่อบุคคลที่ต้องการเลือก ต่อคณะกรรมการชุดดังกล่าวเสียเลย

เขาเสนอแนะต่อไปด้วยว่า คณะกรรมการชุดนี้ยังสามารถที่จะทำให้มีลักษณะเป็นตัวแทนของฝ่ายต่างๆ อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นแบบคณะกรรมการเลือกตั้งในปัจจุบัน ซึ่งมีแต่ผู้ที่เป็นพวกพ้องของปักกิ่ง “ผมไม่คิดหรอกนะว่า เราพ่ายแพ้เกมนี้ไปแล้ว” เขากล่าว “เราสามารถที่จะทำอะไรได้ตั้งเยอะตั้งแยะ ถ้าหากประชาชนเชื่อถือว่ารัฐบาลกำลังกระทำด้วยเจตนาดี แต่ปัญหาก็คือการที่ความไว้วางใจ ได้แหลกสลายไปแล้วนี่แหละ” [2]


และเนื่องจากเรากำลังพูดกันถึงเรื่องการเล่นการเมือง ผมจึงจะขอหยิบยกเรื่องเหลวไหลไร้สาระขึ้นมาพูดถึงสักหน่อย นี่คือคำพูดของ อลัน เหลียง ครับ:

“คุณจะสามารถบอกได้ยังไง ว่านี่แหละคือการที่พรรคคอมมิวนิสต์กำลังแสดงความเคารพปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาในตอนที่รับมอบฮ่องกง?” เขากล่าว

มิสเตอร์เหลียงระบุว่า ตอนนี้เขา “เตรียมพร้อมที่จะถูกนำ” โดยพวกนักศึกษา แต่เขาก็กล่าวเสริมด้วยว่า “ผมรู้สึกกังวลมาก รู้สึกกระวนกระวายใจอย่างที่สุด ว่าคุณอาจจะเผชิญกับกรณีเทียนอันเหมินซ้ำรอยขึ้นมาอีกก็ได้นะ นั่นแหละคือภาพสมมุติสถานการณ์ชนิดเลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้

“ผมยังคงมีความไว้เนื้อเชื่อใจอยู่ว่า ยังคงมีผู้คนที่มีความคิดอ่านอันถูกต้องสมเหตุสมผลอยู่ภายในคณะผู้บริหาร ซึ่งจะสามารถทำให้เป็นที่มั่นใจได้ว่า สิ่งที่ผมกำลังเกิดความกระวนกระวายใจที่สุดนี้ จะไม่บังเกิดขึ้นมา” [2]


คำพูดของเขาซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการพูดอย่างเหลวไหลไร้สาระเสียจนกระทั่งผมรู้สึกโกรธขึ้งรำคาญเหลือเกิน มีอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ การพูดเท็จเรื่องที่ว่าปักกิ่ง “ทรยศตระบัดสัตย์” , การมุ่งสร้างความหวาดผวาเรื่องการประท้วงที่ฮ่องกงจะเผชิญชะตากรรมแบบกรณีเทียนอันเหมิน, และเรื่องที่ว่า “นำโดยนักศึกษาผู้ซึ่งได้ประกาศตัวเรื่อยมาว่าไม่มีผู้นำ”

ผมขอหยิบยกคำพูดเหลวไหลไร้สาระของ เหลียง มาใส่เพิ่มเติมเอาไว้ตรงนี้อีกหน่อย ขอให้ถือว่าเป็นรอบโบนัสแล้วกันนะครับ เขาพูดเอาไว้อย่างนี้ครับ:

“ฮ่องกงจะต้องกลายเป็นสนามสำหรับการทดสอบ เป็นห้องแล็ปสำหรับการทดลองเรื่องประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น นี่คือบทบาทที่ฮ่องกงได้แสดงให้เห็นเรื่อยมาเป็นเวลา 150 ปีแล้ว” เขากล่าวต่อ [2]

ตัวผมเองมองสถานการณ์ว่ายังงี้ครับ: เพื่อที่จะกดดันจำกัดขอบเขตของความอึกทึกครึกโครมที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ รัฐบาลฮ่องกงจึงได้ยอมรับให้นักศึกษาเป็นคู่เจรจาด้วย วัตถุประสงค์ของการพูดจากันคราวนี้ก็คือการหาทางคลี่คลายอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนชาวฮ่องกง ในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปทางประชาธิปไตย

ผมเชื่อว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ถูกมองว่าเป็นหนทางอันฉลาดเฉลียว ที่เสนอให้ฝ่ายบริหารฮ่องกงได้มีทางออกมาจากความเคียดแค้นและความรู้สึกอับอายขายหน้า ตลอดจนความไม่สงบอันเกิดจากการประท้วงบนท้องถนนที่ยืดเยื้อไม่รู้จะจบสิ้นลงเมื่อใดของพวกนักศึกษาผู้ได้รับความเสียหาย ในเวลาเดียวกัน มันก็เป็นการเสนอเส้นทางสำหรับการเปิดประเด็นเรื่องคณะกรรมการเสนอชื่อขึ้นมาใหม่ โดยที่สามารถระบุว่ามันเป็นเรื่องที่สาธารณชนฮ่องกงกำลังให้ความสนใจและต้องการให้แก้ไขคลี่คลายอย่างเร่งด่วน

วัตถุประสงค์ก็คือเป็นการให้โอกาสแก่รัฐบาลฮ่องกงที่จะได้รับการอภัยโทษสำหรับการละเมิดฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของประชาชนก่อนหน้านี้, ได้รับการผ่อนปรนบางระดับในเรื่องการสอบสวนการใช้ความรุนแรงของตำรวจ, และหลุดออกมาจากการตกเป็นเป้าหมายถล่มโจมตี ด้วยการหันกลับมาเป็นทนายผู้คอยแก้ต่างให้ความช่วยเหลือขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย (หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นหุ้นส่วนที่อยู่นิ่งๆ เฉยๆ) ในการผลักดันข้อเสนอเรียกร้องประชาธิปไตยต่อทางการปักกิ่ง

แน่นอนทีเดียว ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ได้กำลังเดินไปบนหนทางของตนด้วยการก้าวตามหลังพวกนักศึกษาวัย 17 ปีหรอก และ สี จิ้นผิง ก็ไม่ได้กำลังหลงใหลได้ปลื้มกับกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ หรือกับการยกยอปอปั้นแบบไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์อย่างโจ๋งครึ่มที่ว่า เขาควรสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ฐานะความเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของเขา ด้วยการแสดงให้เห็นว่าเขามีความยืดหยุ่นในสไตล์ของ เติ้ง เสี่ยวผิง ในเวลาที่เขารับมือกับประเด็นเรื่องฮ่องกงนี้ (รวมทั้งเขาก็ไม่ได้กำลังจะยอมจำนนต่อขบวนการทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่า เป็น “ขบวนการปฏิวัติ” ในเรื่องนี้ด้วย อันที่จริงแล้ว ทั้งผู้นำนักศึกษา โจชัว หว่อง Joshua Wang และผู้นำการประท้วง เบนนี่ ไท่ Benny Tai ซึ่งมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์ทางด้านนิติศาสตร์ ต่างก็รู้สึกว่าเป็นการเหมาะสมยิ่งกว่าที่จะต้องออกมาประกาศให้ชัดๆ ว่า “นี่ (ความเคลื่อนไหวคราวนี้) ไม่ใช่การปฏิวัติ” ถึงแม้พวกเขาดูจะไม่ได้มีเจตนาที่จะจัดทำให้มันกลายข้อความ ซึ่งจะจัดส่งให้แก่พวกบรรณาธิการและนักพาดหัวข่าวของสื่อมวลชนทั่วโลกด้วยก็ตามที)

คาดหมายกันว่า ปักกิ่งจะยินยอมเปลี่ยนความเห็นของตนเกี่ยวกับการเลือกตั้งในฮ่องกง ก็ต่อเมื่อ (หรือบางทีกระทั่งเงื่อนไขเพียงข้อนี้ข้อเดียวก็ยังอาจจะไม่เพียงพอ) ส่วนประกอบสำคัญทุกๆ ส่วนของสังคมฮ่องกง ต่างแสดงความกระตือรือร้น, แสดงความเคลื่อนไหวตื่นตัว, มีการจัดตั้งรวมตัวกัน, และเห็นดีเห็นงามกับยุทธวิธีของการสร้างความไม่สงบอย่างยืดเยื้อและยกระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากว่าความปรารถนาที่จะให้มีการปฏิรูปของพวกเขายังคงไม่ได้รับการตอบสนอง

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องไม่ใช่มีเพียงแค่นักศึกษาเท่านั้น, พวกผู้บริหารและครูบาอาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่ง ตลอดจนพวกผู้บริหารและครูบาอาจารย์ในระดับโรงเรียน (ผมคิดว่าสำหรับกลุ่มนี้แล้ว พวกเขาส่วนใหญ่ต่างเห็นดีเห็นงามกับการต่อสู้นี้อยู่แล้ว), พวกนักวิชาชีพต่างๆ (พวกนักวิชาชีพด้านกฎหมายราว 500 คนได้ออกคำแถลงสนับสนุนเรื่องนี้แล้ว), กลุ่มนิยมประชาธิปไตยในสภานิติบัญญัติฮ่องกง, กลุ่มก้อนที่ใหญ่โตพอดูของภาคการเงิน, (สำหรับ 2 กลุ่มหลังนี้ บางทีมิสเตอร์เราส์ อาจจะแอบไปจัดตั้งดึงเอามาเป็นพวกไว้อย่างลับๆ แล้วก็เป็นได้ เพราะดูจะมีผู้คนในสภานิติบัญญัติและในภาคการเงินของฮ่องกงจำนวนไม่น้อยทีเดียว ที่แสดงความเห็นด้วยกับแนวความคิดที่ว่าการเกิดความไม่สงบขึ้นในฮ่องกงนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้าย รวมทั้งบอกกันว่าการต่อสู้นี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้คนในแวดวงหลักทรัพย์และพันธบัตร เพราะว่ามันเป็นเรื่องของประชาธิปไตย!) , ภาคส่วนต่างๆ ของรัฐบาลฮ่องกงที่ไม่ใช่ตัว ผู้บริหารสูงสุด ซี. เค. เหลียง (C.Y. Leung), และเจ้าสัวที่จะคอยปลุกปลอบใจและคอยล่อใจอย่างระมัดระวัง สักคนหรือสองคน (แน่นอนครับ อย่างเช่น จิมมี่ ไหล เป็นต้น)

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสนับสนุน, ความมุ่งมั่นตั้งใจ, หรือเงินๆ ทองๆ ก็ล้วนแล้วแต่พรักพร้อมมีเพียงพอทั้งนั้น (โดยเฉพาะ 2 อย่างหลังนั้น ได้รับเป็นอภินันทนาการอย่างจุใจจาก จิมมี่ ไหล แห่ง เน็กซ์มีเดีย (NextMedia) และหนังสือพิมพ์แอปเปิลเดลี่ (Apple Daily) ผู้เป็นเจ้าพ่อสื่อ และผู้ออกเงินทุนอย่างใจกว้างเป็นแม่น้ำให้แก่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกระบุว่า “เพื่อประชาธิปไตย” ในฮ่องกง อย่างเช่นพรรคการเมืองของ อลัน เหลียง ก็ได้รับเงินอย่างน้อยที่สุด 4 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (516,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) จากการแบ่งปันให้ของ ไหล เพื่อผลักดันเดินหน้ายุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ [๒]

นอกจากนั้นยังบวกด้วยความช่วยเหลือทางการเงินและความสนับสนุนเชิงสถาบันอย่างเป็นมิตรจาก องค์การกองทุนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของสหรัฐฯ (US National Endowment for Democracy) ตลอดจนกลุ่มเอ็นจีโออื่นๆ ซึ่งกำลังทำท่าจะนำเอาภาพลักษณ์ของการเที่ยวหนุนหลัง “การปฏิวัติสี” (color-revolution) ในประเทศต่างๆ ทางยุโรปตะวันออกจนฉาวโฉ่ มาเปรอะเปื้อนขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงไปด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นหรอก ยังต้องบวกเอาความกระตือรือร้นอย่างลนลานของพวกสื่อมวลชนตะวันตก ตลอดจนการวางท่าเทศนาสั่งสอนของพวกมหาอำนาจเสรีนิยมใหม่ (ตัวผมเองได้เคยชี้เอาไว้ให้เห็นก่อนหน้านี้แล้วว่า ความพยายามที่จะค่อยๆ คืบคลานเข้ามาทำให้ประเด็นเรื่องฮ่องกงกลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างประเทศนั้น ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว) เข้าไปด้วย เมื่อนำเอาสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมารวมกัน เราก็จะได้ภาพของความพยายามที่จะสร้างทะเลเพลิงทางการเมืองแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยอันสง่างดงามขึ้นมาในฮ่องกง

การปิดเกมที่จะถือว่าสมบูรณ์แบบสุดยอดเลย ก็คือ การกดดันจนทำให้สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีนในกรุงปักกิ่ง ต้องยินยอมเพิกถอนอย่างเป็นทางการ ในเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการเสนอชื่อผู้สมัครที่ได้สิทธิลงแข่งขัน และหันมายอมรับให้มีการเสนอชื่อลงสมัครได้อย่างเปิดกว้าง ทว่ายังมีการปิดเกมแบบอื่นๆ อีกที่จะทำให้สามารถบรรลุผลลัพธ์ที่ต้องการได้เช่นกัน เป็นต้นว่า การเขย่าส่วนประกอบของคณะกรรมการเสนอชื่อกันเสียใหม่ หรือ การมีกระบวนการคัดสรรเพื่อให้ส่วนประกอบของคณะกรรมการเสนอชื่อ “มีลักษณะเป็นตัวแทนของฝ่ายต่างๆ อย่างกว้างขวาง” เพื่อให้เป็นที่มั่นใจได้ว่า ใครบางคนซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย (แน่นอนล่ะ จะต้องรวมถึงมิสเตอร์ อลัน เหลียง ผู้น่ารัก ด้วย!) จะได้มีชื่อให้ประชาชนโหวตลงคะแนน

ดังที่หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล ได้เขียนแพล็มเอาไว้ดังนี้:

“คณะเจรจาของฝ่ายรัฐบาลที่นำโดย มิส [แคร์รี] ลัม (Carrie Lam) [เธอเป็นปลัดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง Chief Secretary ซึ่งก็คือข้าราชการประจำตำแหน่งสูงสุดของนครแห่งนี้นั่นเอง] อาจจะเสนอการต่อรองในทางผ่อนปรนอ่อนข้อต่างๆ เป็นต้นว่า การยินยอมให้มีผู้สมัครมากขึ้นที่จะได้สิทธิในการลงแข่งขันทำนองเดียวกับการเลือกตั้งขั้นต้น (primary) ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง

หรือไม่ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการซึ่งรับผิดชอบเลือกกรองผู้สามารถลงแข่งขันชิงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด ให้รับฟังและทำตามมติมหาชนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในปัจจุบัน คณะกรรมการ (ชุดที่ทำหน้าที่เลือกผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง) มีสมาชิก 1,200 คน ซึ่งเต็มไปด้วยผู้ที่โปรปักกิ่ง [3]


สำหรับพวกนักศึกษานั้น พวกเขาจะยังคงเป็นส่วนที่ไม่อาจขาดหายได้ เนื่องจากสามารถที่จะแสดงบทบาทเป็น “ตัวป่วน” ได้ในยามที่ต้องการ เป็นพลังที่มีภาพลักษณ์แห่งความถูกต้องดีงาม ซึ่งสามารถที่จะวางลงไปในสมรภูมิ เพื่อสร้างความอับอายขายหน้าและความตื่นตกใจให้แก่รัฐบาล ด้วยการข่มขู่ว่าจะเกิดความไม่สงบอย่างใหญ่โตกว้างขวาง ถ้าหากคณะเจรจาของ แคร์รี ลัม เกิดดื้อรั้นหัวแข็งอย่างไม่จำเป็นขึ้นมา และแน่นอนทีเดียว พวกนักศึกษายังเป็นตัวชูโรงอันจำเป็นมากในงานประชาสัมพันธ์ ตลอดจนเป็นจุดโฟกัสความสนใจอันน่าชื่นชมยินดีของกองทัพนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งเวลานี้กำลังเตร็ดเตร่ดิ้นรนไปอย่างไร้จุดหมายอยู่ในนครแห่งนี้เพื่อมองหาสิ่งที่อาจจะเขียนขึ้นเป็นข่าวได้

เป็นไปได้ทีเดียวว่า รัฐบาลฮ่องกงอาจจะได้ส่งสัญญาณออกมาแล้วด้วยซ้ำว่า มีความปรารถนาที่จะรอมชอบยื่นหมูยื่นแมว ถ้าหากไม่ถึงขึ้นยกธงขาวยอมจำนน

อย่างที่ผมได้เขียนเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ผมมองเรื่องที่นักศึกษายื่นคำขาด (ให้ ซีวาย เลียง ต้องลาออก) ภายในวันพฤหัสบดี (2 ต.ค.) แล้วก็คำขาดนี้ก็กลับมีอันหายวับไปเสียเฉยๆ ตลอดจนการถอนตัวออกจากการเจรจาเตรียมการอย่างรวดเร็วมากของฝ่ายนักศึกษาในคืนวันอาทิตย์ (5 ต.ค.) ทั้งๆ ที่เกิดความรุนแรงขึ้นในเขตมองก๊อก (Mong Kok) เหล่านี้เป็นสัญญาณของการที่มีการทำข้อตกลงกันแล้ว และทั้งสองฝ่ายจึงต่างเคลื่อนไหวอย่างสอดคล้องประสานกัน

ผมค่อนข้างอยากจะให้ความเคารพนับถืออย่างสูงที่สุดแก่กลุ่มตัวแสดงกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ พวกผู้บริหารมหาวิทยาลัย ในท่ามกลางความเคลื่อนไหวและการแสดงที่เต็มไปด้วยการจัดฉากแบบไร้ความซื่อตรง, ยุทธวิธีอันเต็มไปด้วยเล่ห์กล, และการพูดจาเหลวไหลไร้สาระแบบพวกกระต่ายตื่นตูม

พวกผู้บริหารมหาวิทยาลัยเหล่านี้รับหน้าที่เป็นผู้คอยทะเลาะกับพวกนักศึกษาที่ชุมนุมกันอยู่ โดยที่พวกเขาดูเหมือนจะมีความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะให้นักศึกษามีความปลอดภัย ไม่เพียงจากตำรวจฮ่องกงเท่านั้น แต่จากพวกกลไกของขบวนการออคคิวพาย ฮ่องกง ด้วย ทั้งนี้ถ้าหากสถานการณ์เกิดเรียกร้องต้องการขึ้นมา กลไกที่ว่านี้อาจเห็นเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีนักศึกษาบางคนกลายเป็นผู้เสียสละพลีชีพไปด้วยน้ำมือของตำรวจ, พวกอันธพาลอั้งยี่, หรือผู้ก่อกวนยั่วยุ เพื่อทำให้เครื่องจักรแห่งความโกรธแค้นยังคงมีพลังเดินหน้าต่อไป

ผมเป็นคนหนึ่งครับ ซึ่งไม่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผู้หนุนหลังที่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวบางรายของขบวนการนี้ ในความเป็นจริงแล้วอาจจะจัดส่งอันธพาลลึกลับบางรายไปก่อกวนสร้างความลำบากให้แก่นักศึกษาบางคน ถ้าหากผู้หนุนหลังนี้รู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องคอยทำให้เพลิงแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยลุกโชนต่อไปเรื่อยๆ และทำให้การลงทุนไปในการปฏิรูปทางการเมืองของเขาบังเกิดดอกผลเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา

ทั้งนี้หลังจากที่เขาเดินทางเข้าเมืองเพื่อแสดงการเรียกร้องอย่างเป็นพิธีการให้นักศึกษายกเลิกคำขาดที่ให้ ซีวาย เหลียง “ลาออก” ภายในวันพฤหัสบดีแล้ว อธิการบดีของมหาวิทยาลัย ซิตี้ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ฮ่องกง (City University of Hong Kong) เจมส์ ซุ่ง (James Sung) ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่ง ที่มีเนื้อหาน่าสนใจ ดังต่อไปนี้:

“ถึงแม้พวกเขา [นักศึกษาผู้ทำการประท้วง] ไม่สามารถที่จะเข้าอกเข้าใจความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ได้อย่างเต็มที่ แต่พวกเขาก็มีหัวใจอันบริสุทธิ์ ... และควรที่จะให้ความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุดและให้ความเห็นอกเห็นใจอย่างสูงสุด”

การต่อสู้ในฮ่องกงเวลานี้ ไม่ใช่เป็นเพียงการที่พวกนักศึกษาเปล่งสัจธรรมให้พวกผู้มีอำนาจได้รับฟัง โดยอาศัยร่มและเพลงป็อปภาษากวางตุ้ง (Cantopop) นี่คือสงครามทางการเมืองอันยืดเยื้อและสลับซับซ้อนหลายชั้นเชิงหลายขั้นตอน ระหว่างคู่ปรปักษ์ 2 ฝ่ายซึ่งต่างก็มีทรัพยากรและศักยภาพอันอุดมสมบูรณ์

ถ้าคุณต้องการที่จะทำความเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในฮ่องกง คุณไม่สามารถที่จะมุ่งโฟกัสไปเฉพาะแต่ที่ความงดงามของประชาธิปไตยและความน่ายกย่องนับถือของนักศึกษาเท่านั้น ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงยังแฝงฝังเอาไว้ด้วยการบรรจบกันของเงินทอง, การหลบหลีกกลบเกลื่อน, การขึ้นต่อ, การโฆษณาชวนเชื่อ, และการปลุกปั่นชักใย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันเป็นเรื่องราวของการเมืองแบบเดิมๆ ในสไตล์ของฮ่องกงและปักกิ่ง

หมายเหตุ:

[1] ดูรายละเอียดที่ Hong Kong 'could face decades of protests', Daily Telegraph, October 5, 2014.

[2] ดูรายละเอียดที่ Hong Kong's Billionaire Democrat, Wall street Journal. (ดูได้เฉพาะผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกแล้วเท่านั้น).

[3] Behind a Gate, Hong Kong Chief Tries to Make a Deal With Protesters, October 6, 2014.

หมายเหตุผู้แปล

[๑] ข้อเขียนชิ้นนี้ของ ปีเตอร์ ลี นำออกเผยแพร่ก่อนที่ แคร์รี ลัม ปลัดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง จะประกาศในวันพฤหัสบดี (9 ต.ค.) ยกเลิกนัดหมายการเจรจาอย่างเป็นทางการกับฝ่ายนักศึกษาในวันศุกร์ (10 ต.ค.) ภายหลังที่พวกผู้นำนักศึกษาและพวกผู้นำขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยคนอื่นๆ พากันแถลงระดมให้พวกผู้สนับสนุนออกมาชุมนุมกันมากๆ ในเวลาที่มีการประชุมเจรจา เพื่อเป็นการสร้างพลังต่อรองของฝ่ายประท้วง

[๒] ในข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งของ ปีเตอร์ ลี คือ CY Leung or Lai: Which is Bigger?, Asia Times Online, October 14, 2014 เขาได้ขยายความเรื่องที่ จิมมี่ ไหล เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินคนสำคัญของของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง เอาไว้ดังนี้:

(จิมมี่) ไหล เป็นถุงเงินคนสำคัญของขบวนการ (เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง) และก็เป็นผู้กระตุ้นปลุกเร้าเรียกร้องประชาธิปไตยด้วย คำว่า ถุงเงินคน “สำคัญ” นี้ หมายความว่าอย่างไร ต่อไปนี้เป็นข้อความซึ่งตัดทอนจากรายงานข่าวในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาของหนังสือพิมพ์ “ฮ่องกงสแตนดาร์ด” (Hong Kong Standard) เกี่ยวกับความใจบุญสุนทานของ จิมมี่ ไหล (ดูเรื่อง Burma link as Lai's money trail revealed, Hong Kong Standard, July 22, 2014 หรือที่เว็บเพจ
http://www.thestandard.com.hk/news_detail.asp?art_id=147610&con_type=3) :

จากบรรดาเอกสารที่รั่วไหลออกมาแสดงให้เห็นว่า ไหล ได้บริจาคเงินไปมากกว่า 40 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ให้แก่พวกพรรคและกลุ่มการเมืองฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยตลอดจนสมาชิกสภานิติบัญญัติของฝ่ายนี้นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา โดยที่จำนวน 9.5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ได้จ่ายให้แก่พรรคการเมือง 4 พรรคในเดือนเมษายน 2012

ไหล ยังให้เงินแก่พรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ (Democratic Party) 2 ครั้ง นั่นคือ 5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงในเดือนตุลาคม 2013 และอีก 5 ล้านฮ่องกงในเดือนมิถุนายน 2014

พรรคซีวิค ปาร์ตี้ (Civic Party) ก็ได้เพิ่มเติมไป 6 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงในระหว่างเวลาดังกล่าว

เจิ้ง เย่เชก (Cheng Yue-shek) ผู้จัดการประชุมของ กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง (Alliance for True Democracy) และ สาธุคุณ จู หยิวหมิง (Reverend Chu Yiu-ming) ผู้ก่อตั้งกลุ่มออคคิวพาย เซนทรัล (Occupy Central) ได้รับเงิน 300,000 ดอลลาร์ฮ่องกงในเดือนมิถุนายน 2013 และ 400,000 ดอลลาร์ฮ่องกงในเดือนเมษายน 2013 และเดือนเมษายน 2014 ตามลำดับ

อดีตปลัดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง อานซัน จัน ฟัง ออน (Anson Chan Fang On) ได้รับ 3.5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือกว่า 2 เท่าตัวของจำนวน 1.3 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงซึ่งเธอได้รับจาก ไหล ในระหว่างปี 2007 ถึง 2009

คาร์ดินัล โจเซฟ เซน เซ-คึน (Cardinal Joseph Zen Ze-kiun) ได้รับ 6 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง และ มาร์ติน หลี่ จูหมิง (Martin Lee Chu-ming) ผู้ก่อตั้งพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ได้ 300,000 ดอลลาร์ฮ่องกง

เหลียง คว็อกฮุง (Leung Kwok-hung) สมาชิกสภานิติบัญญัติ “ผมยาว” ของสันนิบาตชาวสังคมประชาธิปไตย (League of Social Democrat) ได้รับ 1 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

ทันยา จัน ซุคชอง (Tanya Chan Suk-chong) อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรคซีวิค ปาร์ตี้ ตลอดจนพวกสมาชิกสภานิติบัญญัติในปัจจุบันจำนวน 5 คนของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ได้แก่ เจมส์ โต คุนซุน (James To Kun-sun) แห่งพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้, หลี่ ชวกเอียน (Lee Cheuk-yan) แห่งพรรคเลเบอร์ (Labour Party), อลัน เหลียง ก่ากิต (Alan Leong Kah-kit) ในฐานะหัวหน้าพรรคซีวิค ปาร์ตี้ และสมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรค คือ คลอเดีย โม หมานจิง (Claudia Mo Man-ching) และตัว อลัน เหลียง ต่างได้รับเงินบริจาคจาก ไหล ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน 2012 ถึง เมษายน 2014


ขอให้สังเกตให้ดีนะครับ สำหรับข้อความตัวเน้นที่ยกมาข้างต้น แล้วเปรียบเทียบกันชัดๆ ให้เห็นกันจะจะเลยว่า ตัดแย้งเป็นตรงกันข้ามกับคำแถลงของตัว จิมมี่ ไหล ต่อ หนังสือพิมพ์ เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2014 (ดูรายละเอียดได้ที่เว็บเพจ
http://www.scmp.com/news/hong-kong/article/1612199/jimmy-lai-chee-ying-says-he-hasnt-given-one-cent-occupy-central?page=all) โดยหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวรายงานเอาไว้อย่างนี้ครับ:

ไหลกล่าวว่าในขณะที่เขาได้บริจาคเงินก้อนโตให้แก่พวกนักการเมืองในฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เขาไม่เคยให้เงินแม้แต่สตางค์เดียวแก่พวกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มออคคิวพาย เซนทรัล

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ไม่ได้ซักไซ้เอากับ จิมมี่ ไหล ในรายละเอียดของคำแถลงนี้ ทั้งๆ ที่ในรายงานข่าวชิ้นเดียวกันของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เอง ก็ได้มีการระบุข้อเท็จจริงที่ว่า สาธุคุณ จู หยิวหมิง คือ 1 ใน 3 ผู้ร่วมก่อตั้ง ออคคิวพาย เซนทรัล (และ จู หยิวหมิง เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเงินบริจาคจาก ไหล) น่าสงสัยอยู่ว่าเขาจะอธิบายเรื่องสายสัมพันธ์เช่นนี้ได้ยังไง

เรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าที่กล่าวมานี้เสียอีก ก็คือ จิมมี่ ไหล ยังกลายเป็นเงาดำทะมึนชนิดไม่ได้ไร้เดียงสาและก็ไม่ได้ถืออุดมคติแรงกล้าแบบพวกนักศึกษา เข้าทาบทับบดบังขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงอีกด้วย เพราะในขณะที่พวกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยต่างกำลังคำรามไล่ล่าจะเอาศีรษะของ ซี วาย เหลียง มาเป็นเครื่องเซ่นข้อกล่าวหาที่ระบุว่าเขากระทำผิดทางจริยธรรม ตอนนี้ก็สมควรจะถึงเวลาที่ จิมมี่ ไหล ต้องปรากฏตัวมาอธิบายว่า การอุทิศตัวเพื่อประชาธิปไตยของเขา มันสอดคล้องไปกันได้อย่างไร กับการที่เขากำลังจ่ายเงิน 75,000 ดอลลาร์ ให้แก่ พอล วูลโฟวิตซ์ (Paul Wolfowitz) นักการเมืองอนุรักษนิยมใหม่ (neo-con) ตัวพ่อของสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือให้เขาได้รับความกรุณาจากพวกผู้ปกครองทหารที่พยายามหลีกหนีประชาธิปไตยของพม่า และทำให้เขาประสบผลทางธุรกิจในประเทศนั้นอย่างที่มุ่งหวังตั้งใจไว้

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น