เอเอฟพี - นักโทษชาย 5 คนซึ่งก่อคดีข่มขืนกระทำชำเราหญิงสาว 4 คน ถูกทางการอัฟกานิสถานประหารชีวิตโดยการแขวนคอเมื่อวานนี้ (8 ต.ค.) แม้จะมีเสียงคัดค้านทั้งจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และนักสิทธิมนุษยชนซึ่งเรียกร้องให้ประธานาธิบดี อัชรอฟ ฆอนี ยับยั้งบทลงโทษอันทารุณนี้ก็ตาม
เหตุข่มขืนซึ่งเกิดขึ้นที่เมืองพัฆมานใกล้ๆ กรุงคาบูลสร้างความโกรธแค้นต่อประชาชนชาวอัฟกัน ซึ่งส่วนใหญ่กดดันให้รัฐต้องลงโทษแขวนคอเท่านั้น และประธานาธิบดี ฮามิด คาร์ไซ ก็ได้ลงนามอนุมัติการประหารชีวิตชายทั้ง 5 ก่อนที่ตัวเขาเองจะหมดวาระเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
องค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) ประณามการแขวนคอนักโทษครั้งนี้ว่าเป็นการ “ดูหมิ่นกระบวนการยุติธรรม” ขณะที่เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำอัฟกานิสถานก็แสดงความกังขาเกี่ยวกับจุดยืนปกป้องสิทธิมนุษยชนของประธานาธิบดี ฆอนี
อย่างไรก็ตาม กระทรวงกิจการสตรีอัฟกานิสถานกลับสดุดีการแขวนคอนักโทษว่าเป็น “พัฒนาการก้าวสำคัญที่จะช่วยธำรงรักษาความยุติธรรมในสังคม ปกป้องสิทธิสตรี และยังเป็นบทเรียนแก่ใครก็ตามที่คิดจะก่ออาชญากรรมเช่นนี้”
ล่าสุดยังไม่มีถ้อยแถลงใดๆ จากผู้นำคนใหม่ของอัฟกานิสถาน ซึ่งถูกกระแสสังคมกดดันให้เร่งลงโทษผู้กระทำผิดโดยไม่ชักช้า ตั้งแต่ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม
“นักโทษทั้ง 5 คนที่เกี่ยวข้องกับคดีข่มขืนที่พัฆมาน และอาชญากรคนสำคัญอีกรายหนึ่ง ถูกแขวนคอพร้อมกันเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา” เราะห์มาตุลเลาะห์ นาซี รองอัยการสูงสุดอัฟกานิสถาน ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
นักโทษคดีข่มขืน 5 คนถูกแขวนคอที่เรือนจำ พุล-เอ-ชาร์คี ใกล้กับกรุงคาบูล พร้อมกับ ฮาบีบ อิสตาลิฟี หัวหน้าแก๊งลักพาตัว
ฟรานซ์-ไมเคิล เมลล์บิน เอกอัครราชทูตอียู โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ทันทีที่ทราบข่าวว่า “การประหารในวันนี้ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับเจตนารมณ์ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของรัฐบาลอัฟกานิสถานชุดใหม่”
รายงานระบุว่า กลุ่มชายติดอาวุธซึ่งสวมเครื่องแบบตำรวจได้เข้าไปขวางขบวนรถยนต์ที่เพิ่งกลับจากงานแต่งงานในเมืองพัฆมานและกำลังมุ่งหน้าสู่กรุงคาบูล จากนั้นจึงจับเหยื่อที่เป็นชายทั้งหมดมัดรวมกันไว้ และลากผู้หญิงอย่างน้อย 4 คนไปข่มขืน ก่อนจะกวาดทรัพย์สินมีค่าไปจนเรียบ
การไต่สวนในชั้นศาลใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง และมีข่าวลือว่าผู้ต้องหาทั้งหมดถูกทรมานจนต้องรับสารภาพ ขณะที่อดีตประธานาธิบดีคาร์ไซเรียกร้องให้ศาลลงโทษแขวนคอตั้งแต่กระบวนการพิจารณาความผิดยังไม่ได้เริ่มด้วยซ้ำ
เดวิด กริฟฟิธส์ รองผู้อำนวยการองค์การนิรโทษกรรมสากลประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ระบุว่า “ความโกรธแค้นที่ประชาชนมีต่อคดีนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่การประหารไม่ใช่ความยุติธรรม มันเป็นแค่การแก้แค้นระยะสั้นเท่านั้น”
ก่อนหน้านี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดี ฆอนี ใช้อำนาจส่งคดีนี้กลับไปให้ศาลพิจารณาใหม่ “เนื่องจากมีความกังวลอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับกระบวนการอันชอบด้วยกฎหมาย (due process)”
ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงระหว่างการพิจารณาคดีซึ่งถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และที่ด้านนอกศาลก็มีผู้คนจำนวนมากมาชุมนุมกดดันให้ศาลลงโทษประหารชีวิต