เอเอฟพี - รัฐมนตรีมหาดไทยของอังกฤษ เสนอมาตรการใหม่ในวันอังคาร (30 ก.ย.) ห้ามกลุ่มคนหัวรุนแรงที่เคร่งศาสนาอิสลาม ทำกิจกรรมใดๆ แม้คนเหล่านั้นจะยืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ทำให้บรรดานักรณรงค์ต่างออกมาประณามว่าเป็นมาตรการที่ผิดพลาด
เธเรซา เมย์ กล่าวในการประชุมประจำปีของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ที่เบอร์มิงแฮมว่า การเคร่งศาสนาไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรง และคนที่เคร่งศาสนาก็ไม่ใช่พวกที่ชอบก่อความรุนแรงไปเสียทุกคน แต่ความเสียหายต่อสังคมที่เกิดจากพวกเคร่งศาสนาหัวรุนแรงนั้นมากพอที่จะทำให้ต้องดำเนินการเช่นนี้
"เราต้องมีชัยเหนือพวกหัวรุนแรงทุกรูปแบบ เราต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าของเรา" เธอกล่าวกับบรรดาผู้แทนที่กำลังปรบมือกันเกรียวกราว โดยมีเจ้าหน้าที่คอยสรุปให้นักข่าวฟังเกี่ยวกับมาตรการเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นหากพรรคชนะการเลือกตั้งในปี 2015
สื่ออังกฤษรายงานว่า มาตรการจัดระเบียบพวกเคร่งศาสนาแบบสุดโต่ง จะทำให้ศาลสามารถสั่งจำกัดกิจกรรมของบุคคลใดๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุรุนแรงและความวุ่นวายในสังคม
ภายใต้มาตรการนี้ กลุ่มคนเคร่งศาสนาแบบสุดโต่งจะถูกห้ามกล่าวปราศรัยในที่สาธารณะ ห้ามมีส่วนร่วมในการประท้วง หรือแม้กระทั่งการพูดผ่านสื่อ นอกจากนี้พวกเขายังอาจจะต้องให้ตำรวจตรวจสอบเนื้อหาต่างๆ ก่อนที่จะมีการโพสต์อะไรก็ตามในอินเตอร์เน็ต
มาตรการนี้ยังอาจทำให้บรรดากลุ่มต่างๆ ถูกพิจารณาว่าเป็นพวกนอกกฏหมายได้ แม้ว่าจะไม่ได้กระทำในสิ่งที่ถือเป็นภัยก่อการร้าย อาทิ การกระทำที่คุกคามประชาธิปไตย นอกจากนี้การเป็นสมาชิกของกลุ่มเคร่งศาสนาสุดโต่งยังอาจถือว่ามีความผิดทางอาญาด้วย
เอมมา คาร์ ผู้อำนวยการของ บิ๊กบราเธอร์ วอช องค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยม ระบุว่า เป็นมาตรการที่อันตรายมาก
"ในประเทศประชาธิปไตย มันถือเป็นเรื่องผิดพลาดมากที่ผู้คนจะต้องถูกตราหน้าว่าเป็นพวกหัวรุนแรง และต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านเสรีภาพต่างๆ โดยที่ไม่มีโอกาสได้โต้แย้งตามขั้นตอนทางกฏหมาย ด้วยระบบที่โปร่งใสและเข้าใจได้" คาร์ กล่าว
คาร์ ระบุว่า รัฐมนตรีมหาดไทยควรจะคิดให้รอบคอบเกี่ยวกับสิ่งที่นานาชาติเคยทำไว้ เพราะนโยบายนี้อาจจะทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมาแก่สาธารณชน
เจ้าหน้าที่พรรค ระบุว่า มาตรการนี้ ซึ่งถูกรวมไว้ในแถลงการณ์ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ จะไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะกลุ่มมุสลิมที่เคร่งศาสนาแบบสุดโต่งเท่านั้น แต่จะสามารถใช้กับพวกนีโอนาซีและกลุ่มหัวรุนแรงอื่นๆ ได้ด้วย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตำรวจอังกฤษได้จับกุมตัว แอนเจม โชวดารี ผู้เคร่งศาสนาอิสลามแบบสุดโต่ง พร้อมกับผู้ต้องสงสัยรายอื่นๆ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มหัวรุนแรง
โชวดารี กล่าวหลังจากได้รับการประกันตัวว่า การจับกุมเขานั้น เกิดขึ้นเพราะหวังผลทางการเมือง เพื่อสร้างแรงสนับสนุนสำหรับการลงคะแนนเสียงในรัฐสภาอังกฤษเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรื่องที่จะใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในอิรัก