เอเจนซีส์ – เครื่องบินรบของกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ ในวันนี้ (28 ก.ย.) ยังคงถล่มโจมตีพวกโรงกลั่นน้ำมันที่เป็นแหล่งทำเงินทำทองให้กลุ่มนักรบญิฮัด “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ขณะที่ “อัล-นูซรา ฟรอนต์” กลุ่มก่อการร้ายในเครือข่ายอัล-กออิดะห์ในซีเรีย ขู่ล้างแค้นประเทศที่ร่วมกับอเมริกาโจมตีไอเอส ระบุเป็นการ “ทำสงครามกับอิสลาม” ในเวลาเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียประณามปฏิบัติการโจมตีในซีเรียตามอำเภอใจของวอชิงตัน พร้อมตอบโต้ข้อกล่าวหากรณียูเครน ชี้วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตะวันตกต้องการเสี้ยมให้เคียฟแตกกับมอสโก
ตามคำแถลงในวันอาทิตย์ (28) ของกองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ (CENTCOM) ซึ่งรับผิดชอบทหารอเมริกันในตะวันออกกลางและอัฟกานิสถาน ระบุว่า สหรัฐฯพร้อมกับสมาชิกในกลุ่มพันธมิตรอย่างซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (อีเอยู) ได้เข้าโจมตีทางอากาศระลอกล่าสุดในช่วงคืนวันเสาร์ (27) จนถึงวันอาทิตย์ ต่อเป้าหมายซึ่งเป็นหน่วยกลั่นน้ำมันรวม 4 แห่ง และศูนย์บังคับบัญชาของพวกไอเอสอีกแห่งหนึ่ง ทั้งหมดต่างอยู่ทางตอนเหนือของเมืองรากา ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของซีเรีย
นอกจากนั้น การโจมตีระลอกนี้ยังสามารถทำลายรถถังคันหนึ่ง และสร้างความเสียหายให้รถถังอีกคันหนึ่ง ที่บริเวณใกล้ๆ ดีเอร์ เอซซอร์ ในภาคตะวันออกของซีเรีย ตลอดจนโจมตีใยานยนต์หุ้มเกราะ 3 ลำและรถฮัมวี 1 คันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ไม่เฉพาะในซีเรีย การโจมตีคราวนี้ยังถล่มใส่เป้าหมายในอิรัก โดยสามารถทำลายเซฟเฮาส์แห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กรุงแบกแดด และสร้างความเสียหายให้แก่จุดตรวจแห่งหนึ่ง นอกจากนั้นยังได้โจมตีเป้าหมายใกล้ๆ เมืองฟอลลูจาห์ โดยสามารถทำลายจุดตรวงของพวกไอเอสได้ 2 แห่ง และรถบรรทุกของไอเอส 1 คัน
ก่อนหน้านี้ กลุ่มซีเรียน ออฟเซอร์วาทอรี ฟอร์ ฮิวแมน ไรต์ส ซึ่งเป็นกลุ่มติดตามการสู้รบในซีเรียโดยอาศัยเครือข่ายของกลุ่มฝ่ายค้านซึ่งต่อต้านทั้งรัฐบาลดามัสกัสและทั้งกลุ่มนักรบหัวรุนแรงอย่างไอเอส และ อัล-นูซรา ได้แถลงว่า ในการโจมตีของสหรัฐฯและพันธมิตรระลอกล่าสุดนี้ ได้ทำลายโรงกลั่นน้ำมันชั่วคราว 3 แห่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ เมือง ตัล อับยาด ที่อยู่คนละฟากชายแดนกับเมืองอัคคาคัล ของตุรกี
กลุ่มติดตามซึ่งมีฐานอยู่ในลอนดอนกลุ่มนี้ระบุว่า พวกไอเอสใช้โรงกลั่นซึ่งสร้างขึ้นมาชั่วคราวเหล่านี้ ในการกลั่นน้ำมันดิบและขายให้แก่พวกผู้ซื้อชาวตุรกี
ทั้งนี้ พวกโครงสร้างพื้นฐานทางด้านน้ำมันของไอเอส กำลังตกเป็นเป้าหมายโจมตีของสหรัฐฯในระยะหลายวันที่ผ่านมา โดยที่พวกนักวิเคราะห์บอกว่า ก่อนที่สหรัฐฯและพันธมิตรจะเริ่มเปิดการโจมตีเป้าหมายไอเอสในซีเรียนั้น พวกนักรบญิฮัดกลุ่มนี้สามารถทำรายได้จากน้ำมันได้ถึง 3 ล้านดอลลาร์ต่อวันทีเดียว
กลุ่มซีเรียน ออฟเซอร์วาทอรี ฟอร์ ฮิวแมน ไรต์ส บอกว่า การโจมตีรอบๆ เมืองตัล อับยาด มีขึ้น 1 วันหลังจากในวันเสาร์ สหรัฐฯกับพันธมิตรได้เข้าถล่มเป้าหมายไอเอสที่บริเวณใกล้ๆ เมืองสำคัญของชาวเคิร์ดในซีเรีย ซึ่งมีชื่อว่า ไอน์ อัล-อาหรับ หรือชื่อในภาษาเคิร์ดว่า โคบานี เมืองนี้ก็อยู่ติดกับชายแดนตุรกี และตกเป็นเป้ารุกโจมตีของไอเอสมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว จนทำให้มีผู้อพยพอย่างน้อย 160,000 คนหลบหนีเข้าสู่ตุรกี
พลเรือน 7 คนตายด้วยขีปนาวุธสหรัฐฯ
ในเวลาเดียวกัน กลุ่มฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ ซึ่งมีฐานอยู่ที่นครนิวยอร์ก ได้ออกมาแถลงว่า การที่สหรัฐฯใช้ขีปนาวุธโจมตีในจังหวัดอิดลิบ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียเมื่อวันอังคาร (23) ที่แล้ว ดูเหมือนจะสังหารพลเรือนไปด้วยอย่างน้อย 7 คน ทั้งนี้กลุ่มนี้เรียกร้องให้ทำการสอบสวนว่าการปฏิบัติการของสหรัฐฯมีการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องการทำสงครามหรือไม่
เครือข่ายกออิดะห์ระบุพันธมิตรของ US เปิดศึกกับอิสลาม
อีกด้านหนึ่ง อาบู ไฟราส อัล-ซูรี โฆษกของกลุ่ม อัล-นูซรา ฟรอนต์ ประกาศในคลิปที่โพสต์เมื่อวันเสาร์ (27 ) ว่า ประเทศที่เกี่ยวข้องกับพันธมิตรต่อต้านไอเอสซึ่งนำโดยสหรัฐฯ “ก่อการสะเทือนขวัญจึงสมควรตกเป็นเป้าหมายสงครามศักดิ์สิทธิ์ทั่วโลก”
อัล-นูซรา ฟรอนต์ ซึ่งเป็นพวกจงรักภักดีต่ออัลกออิดะห์ เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในสมรภูมิตลอดทั่วภาคตะวันตกของซีเรีย โดยที่ในบางครั้งบางครั้งก็เกิดการปะทะต่อสู้กันถึงขั้นบาดเจ็บล้มตายกับกลุ่มไอเอส นับตั้งแต่ที่คณะผู้นำของอัลกออิดะห์ได้ประกาศตัดเชือกไม่ยอมรับพวกผู้บังคับบัญชาของไอเอสในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้
ทว่า อัล-นูซรา ฟรอนต์ ก็ยังคงตกเป็นเป้าหมายโจมตีจากการถล่มทางอากาศของสหรัฐฯด้วย ทั้งนี้วอชิงตันได้มีการแบ่งแยกระหว่าง อัล-นูซรา ฟรอนต์ กับ หน่วยของนักรบญิฮัดต่างชาติหน่วยหนึ่งที่เรียกขานกันว่า โคราซาน โดยวอชิงตันระบุว่า โคราซาน กำลังวางแผนโจมตีสหรัฐฯ ถึงแม้นักวิเคราะห์จำนวนมากจะเห็นว่าโคราซาน ก็เป็นพวกที่สังกัดอยู่ใน อัล-นูซรา ฟรอนต์
มีรายงานหลายกระแสว่า มูห์ซิน อัล-ฟัดฮ์ลี มือปฏิบัติการที่อยู่กับอัลกออิดะห์มายาวนาน อีกทั้งถูกระบุว่าเป็นผู้นำคนหนึ่งของโคราซาน ได้ถูกสังหารจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯไปแล้ว
สำหรับชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมหรือสนับสนุนการโจมตีไอเอสของสหรัฐฯนั้น พวกที่เป็นพันธมิตรชาติอาหรับ ได้แก่ บาห์เรน จอร์แดน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่ประธานาธิบดีรีเซป เทยิป เออร์โดแกนแห่งตุรกี เปิดเผยว่า จะเรียกประชุมรัฐสภาในวันที่ 2 ตุลาคม เพื่อพิจารณาการเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารกับสหรัฐฯ
ในเวลาไล่เลี่ยกัน พลเอกอาหมัด เรชา ปูร์เดสตานา ผู้บัญชาการทหารทัพบกอิหร่านประกาศว่า อาจโจมตีไอเอสในอิรัก หากนักรบญิฮัดกลุ่มนี้รุกเข้าใกล้พรมแดนอิหร่าน
ขณะเดียวกัน รัฐสภาของเบลเยียม และเดนมาร์ก ได้อนุมัติแผนการเข้าร่วมกับฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ โจมตีไอเอสในอิรักแล้ว เพื่อให้อเมริกาไปโฟกัสปฏิบัติการที่ซับซ้อนมากกว่าในซีเรีย
ชาติยุโรปนั้นยังไม่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการในซีเรีย มีเพียงอังกฤษที่ “สงวนสิทธิ์” ในการเข้าแทรกแซงในประเทศดังกล่าวหากมีแนวโน้มที่จะเกิดภัยพิบัติด้านมนุษยชน
ที่วอชิงตัน พลเอกมาร์ติน เดมป์ซีย์ ประธานเสนาธิการร่วมทางทหารของสหรัฐฯ เตือนว่า พันธมิตรไม่สามารถเอาชนะนักรบญิหาดในซีเรียได้ด้วยการโจมตีทางอากาศเพียงอย่างเดียว แต่ต้องฝึกกลุ่มกบฏ “สายกลาง” ในซีเรีย 15,000 คนและส่งเข้าไปต่อสู้ภาคพื้นดิน
ทว่า ณ ขณะนี้ วอชิงตันมีแผนฝึกและติดอาวุธให้กบฏซีเรียเพียง 5,000 คนเท่านั้น
รัสเซียกล่าวหาสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน ในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันเสาร์ เซียร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียได้กล่าวหาอเมริกาว่า อ้างสิทธิ์ใช้กำลังฝ่ายเดียวในที่ใดก็ตามเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งแม้ไม่ได้ระบุโดยตรง แต่เชื่อว่า หมายถึงการโจมตีไอเอสในซีเรีย
ลาฟรอฟยังกล่าวหาตะวันตกและองค์การสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลง “รหัสพันธุกรรม” สมัยสงครามเย็น
รัฐมนตรีต่างประเทศแดนหมีขาวสำทับว่า วิกฤตยูเครนเป็นผลจากการรัฐประหารในยูเครนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อยุติบทบาทการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างตะวันออกและตะวันตกของเคียฟ
ส่วนการผนวกไครเมียของรัสเซียเมื่อต้นปีก็เป็นการเลือกของประชาชนส่วนใหญ่ในดินแดนดังกล่าวที่พูดภาษารัสเซีย
ทั้งนี้ เดิมไครเมียเคยเป็นของรัสเซียอยู่เป็นร้อยปี จนกระทั่ง นิกิตา ครุสเชฟ อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตที่เป็นชาวยูเครน ได้มอบไครเมียให้ยูเครนในทศวรรษ 1950
อย่างไรก็ดี ลาฟรอฟไม่ได้กล่าวถึงข้อกล่าวจากตะวันตกว่า มอสโกส่งทหารและอาวุธหนักเข้าไปให้กบฏแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออก แต่ย้ำว่า มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของตะวันตกไม่สามารถทำให้เครมลินเปลี่ยนจุดยืนเกี่ยวกับวิกฤตยูเครน พร้อมทิ้งท้ายว่า วิกฤตนี้ควรเป็นบทเรียนให้วอชิงตันและนาโตยุติการพยายามทำลาย “รากเหง้าและความสัมพันธ์ระหว่างคนรัสเซียกับยูเครน”