xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรสหรัฐฯ ปูพรม IS รอบใหม่ คาดเวที UN เน้นคุยเรื่องก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online







เอเจนซีส์ - กลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ เปิดการถล่มโจมตีที่มั่นของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) อีกครั้งในวันพุธ (24 ก.ย.) โดยมีทั้งเป้าหมายในอิรัก และจุดยุทธศาสตร์ในซีเรียซึ่งอยู่ตรงพรมแดนติดต่อกับอิรัก ทางด้านบรรดาผู้นำจากทั่วโลกเตรียมเข้าประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นที่จะเริ่มขึ้นในวันพุธเช่นกัน ซึ่งเชื่อได้ว่า สหรัฐฯจะพยายามผลักดันให้เรื่องการระดมความสนับสนุนเพื่อประกาศศึกกับกลุ่มก่อการร้าย กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ครอบงำการประชุมปีนี้

กองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ (CENTCOM) ซึ่งดูแลรับผิดชอบทหารอเมริกันในตะวันออกกลางและอัฟกานิสถาน แถลงว่า การถล่มทางอากาศในช่วงตั้งแต่คืนวันอังคาร (23) จนถึงวันพุธนั้นได้กระทำเป็น 5 ระลอก โดยใช้ทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินขับไล่

ทั้งนี้การโจมตีที่บริเวณด้านตะวันตกของเมืองหลวงแบกแดดของอิรัก สามารถทำลายยานยนต์ติดอาวุธได้ 2 คันและคลังอาวุธแห่งหน่ง ส่วนอีก 2 ระลอกได้ทำลายที่มั่นสู้รบของกลุ่มไอเอสหลายแห่ง ซึ่งกำลังคุกคามเมืองหลวงอาร์บิล ของเขตปกครองตนเอง “เคอร์ดิสถาน” ของชาวเคิร์ด ในภาคเหนือของอิรัก

สำหรับในซีเรีย การโจมตีระลอกที่ 5 ได้ทำลายยานพาหนะของไอเอสไป 8 คัน ที่บริเวณเมืองอัล-กออิม ซึ่งอยู่ติดต่อกับชายแดนอิรัก

CENTCOM ระบุว่า จากการโจมตีระลอกล่าสุดนี้ ทำให้จำนวนการถล่มเป้าหมายต่างๆ ที่อยู่ในอิรัก อยู่ที่ 198 ครั้ง นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เริ่มออกคำสั่งเปิดการรณรงค์ที่นำโดยอเมริกาเพื่อเล่นงานไอเอส ส่วนสำหรับในซีเรีย ซึ่งการถล่มโจมตีเริ่มขึ้นครั้งแรกในวันจันทร์ (22) นั้น เวลานี้อยู่ที่ 20 ครั้ง

จากการโจมตีในวันแรกๆ นี้ ดูจะบ่งชี้ให้เห็นว่าจุดมุ่งหมายประการหนึ่งของสหรัฐฯคือการสร้างความเสียหายให้แก่ความสามารถของไอเอสในการปฏิบัติการข้ามพรมแดนระหว่างอิรัก-ซีเรีย ทั้งนี้กลุ่มซีเรียน ออปเซอร์วาทอรี ฟอร์ ฮิวแมน ไรต์ส ซึ่งเป็นกลุ่มเฝ้าติดตามการสู้รบขัดแย้งในซีเรีย โดยอาศัยเครือข่ายฝ่ายคัดค้านต่อต้านรัฐบาลซีเรียที่ไม่ใช่พวกหัวรุนแรง ระบุว่า ในวันพุธ กองกำลังนำโดยสหรัฐฯได้โจมตีเป้าหมายอย่างน้อย 13 จุดทั้งในและรอบๆ อัลบู คามัล ซึ่งเป็นจุดข้ามพรมแดนหลักจุดหนึ่งระหว่างอิรักกับซีเรีย หลังจากที่ได้ถล่มเป้าหมายบริเวณนี้ไป 22 จุดในวันอังคาร ทั้งนี้ เมืองอัล-กออิม ที่กองบัญชาการด้านกลางของสหรัฐฯระบุว่าเข้าโจมตีในวันพุธนั้น ก็คือเมืองเล็กๆ ตรงด่านชายแดนอัลบู คามัล นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การถล่มโจมตีเหล่านี้ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการสกัดกั้นพวกนักรบไอเอส ซึ่งกำลังค่อยๆ บุกเข้าสู่เมืองเอน อัล-อาหรับ ที่เรียกในภาษาเคิร์ดว่า โคบานี อันเป็นเมืองพรมแดนทางเหนือของซีเรียที่ติดต่อกับตุรกี โดยที่ไอเอสเข้าโจมตีบริเวณรอบๆ เมืองนี้อย่างหนักเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้ชาวเคิร์ดกว่า 130,000 คนต้องทิ้งบ้านหนีการสังหารหมู่เข้าสู่ตุรกี

การที่ไอเอสยังคงรุกคืบหน้าสู่โคบานี เป็นเครื่องเตือนให้เห็นถึงความยากลำบากที่วอชิงตันน่าจะต้องประสบในการยังความปราชัยให้พวกนักรบหัวรุนแรงในซีเรีย เนื่องจากสหรัฐฯไม่ได้มีกลุ่มพันธมิตรที่เข้มแข็งคอยประสานอยู่ทางภาคพื้นดิน

ก่อนหน้านี้ในวันอังคาร (23) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ประกาศว่า การโจมตีในคืนวันจันทร์จนถึงวันอังคาร ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยสามารถทำลายที่มั่น ศูนย์ฝึก ศูนย์บัญชาการ และยานยนต์ติดอาวุธของไอเอสในเมืองรากา ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของ “รัฐอิสลาม” ที่ไอเอสหมายมั่นปั้นมือสถาปนา รวมถึงใกล้ชายแดนอิรัก

วันเดียวกัน ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แถลงว่า ความเข้มแข็งของแนวร่วมนี้เท่ากับเป็นการประกาศว่า นี่ไม่ใช่การต่อสู้ของอเมริกาเพียงลำพัง และใครก็ตามที่วางแผนโจมตีอเมริกาและพลเมืองอเมริกัน ควรรับรู้ว่า อเมริกาจะไม่ปล่อยให้กลุ่มก่อการร้ายมีที่หลบภัย

การสร้างพันธมิตรต่อสู้กับไอเอส ซึ่งนำโดยอเมริกาและมีซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และจอร์แดน ร่วมสนับสนุนนั้น ได้รับการคาดหมายว่า จะเป็นประเด็นหลักในที่ประชุมประจำปีของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ที่เริ่มต้นในวันพุธ

นอกจากนั้นยังจะมีการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงที่ โอบามาจะอาศัยการที่สหรัฐฯเป็นประธานของคณะมนตรีในเดือนนี้อยู่แล้ว ไปนั่งเป็นประธานของการประชุม โดยคาดหมายว่าจะมีการรับรองญัตติเพื่อสกัดกั้นไม่ให้นักรบต่างชาติหลั่งไหลไปร่วมรบกับไอเอสหรือกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ในอิรักและซีเรีย

ร่างญัตติของอเมริกาเรียกร้องให้ทุกประเทศป้องกันและขัดขวางการรับสมัครนักรบ และความช่วยเหลือทุกรูปแบบที่ให้แก่นักรบต่างชาติ รวมทั้งห้ามการระดมเงินหรือช่วยเหลือเพื่อจัดการเดินทางให้นักรบเหล่านั้น

อินเตอร์เนชันแนล เซนเตอร์ ฟอร์ สตัดดี ออฟ เรดิคาไลเซชันที่มีฐานในลอนดอนคาดว่า ขณะนี้มีนักรบต่างชาติราว 12,000 คนเดินทางจาก 74 ประเทศไปยังซีเรียและอิรัก ซึ่งถือเป็นการหลั่งไหลไปร่วมกับนักรบอิสลามครั้งใหญ่ที่สุดนับจากสงครามอัฟกันในทศวรรษ 1980

นักรบต่างชาติเหล่านี้ ส่วนใหญ่คือ 75% เป็นพลเมืองตะวันออกกลางและชาติอาหรับ โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย ตูนีเซีย และโมร็อกโก
กำลังโหลดความคิดเห็น