เอเจนซีส์- ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ปฎิเสธคำร้องขอของประธานาธิบดียูเครน เปโตร โปโรเชนโก ที่ร้องขอกับทางรัฐสภาคองเกรสให้สนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์สงครามทำลายล้างสูงแก่กองทัพยูเครนในระหว่างการเยือนสหรัฐฯของผู้นำยูเครนเมื่อวานนี้ (18 ก.ย.)
ในระหว่างการพบปะของสองชาติผู้นำที่ทำเนียบขาว หลังจากที่ประธานาธิบดียูเครน เปโตร โปโรเชนโกได้แถลงต่อสภาคองเกรสในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (18) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามาแถลงว่า ทางสหรัฐฯ จะกระตุ้นให้ประชาคมโลกเดินหน้าเพื่อให้ความขัดแย้งยูเครนสามารถยุติได้โดย “ใช้วิถีทางการทูต” รอยเตอร์รายงาน
และโปโรเชนโกแถลงตอบว่าเขารู้สึกยินดีถึงความช่วยเหลือของวอชิงตัน และคาดหวังว่าสัญญาสงบศึกที่ยังไม่ถาวรระหว่างเคียฟและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยูเครนจะกลายเป็นสัญญาสันติภาพที่มั่นคงในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าวานนี้ (18) ผู้นำยูเครนได้เสนอว่า ทางองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือสมควรที่จะมอบสมาชิกภาพพิเศษให้กับยูเครน และในการแถลงกับรัฐสภาสหรัฐฯนั้นโปโรเชนโกกล่าวว่า เขาหวังว่าสหรัฐฯจะให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์การศึกแก่เคียฟมากขึ้นเพื่อ “รักษาสันติภาพ” ในทางตะวันออกของประเทศ แต่โอบามายังคงย้ำถึงจุดยืนสหรัฐฯ อีกครั้งว่า สหรัฐฯ ยังคงยืนยันที่จะให้ความช่วยเหลือยูเครนในรูปแบบยุทโธปกรณ์ที่ไม่มีอำนาจในการทำลายล้าง เช่น เสื้อเกราะกันกระสุน หมวกนิรภัย เป็นต้น ซึ่งฝ่ายยูเครนยืนยันกลับมาว่า “ยังไม่เพียงพอ”
“ผ้าห่มและกล้องส่องกลางคืนมีความจำเป็น แต่ทว่ากองทัพไม่สามารถเอาชนะการรบได้ด้วยผ้าห่มเท่านั้น ย่อมไม่สามารถรักษาสันติภาพไว้ได้ด้วยผ้าห่ม 1 ผืนเช่นกัน” โปโรเชนโกกล่าว และย้ำว่า “กองทัพยูเครนมีความจำเป็นต้องมีอาวุธที่มีอนุภาพทำลายล้างสูง รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ช่วยให้ปลอดภัยอื่นๆพร้อมกัน”
ในขณะที่โปโรเชนโกสามารถเรียกเสียงตบมือจากสมาชิกสภาคองเกรสได้ ผู้นำยูเครนเกริ่นถึงการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การนาโตว่า “ทางเราร้องขอร้องสหรัฐฯ ให้มอบสถานภาพความเป็นสมาชิกภาพพิเศษในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือแก่ยูเครน”
ก่อนหน้านี้รัสเซียได้เตอนนาโตถึงการเคลื่อนไหวทางตะวันออกและยูเครน ซึ่งหากมีการเคลื่อนไหวในแง่สมาชิกภาพจะได้รับการตอบโต้จากรัสเซียอย่างทันที ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน แถลงผ่านกาประกาศนโยบายการป้องกันประเทศ
นอกจากนี้ ผู้นำยูเครนยังได้โจมตีรัสเซียว่า “ยังฝั่งใฝ่จักรวรรดินิยม และยังคงถลิลหาอดีตสหภาพโซเวียตไม่เสื่อมคลาย” โดยอ้างโยงไปถึงเหตุการณ์ผนวกไครเมียของรัสเซีย และการลอบสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยูเครนในตะวันออก และนอกเหนือการขอความช่วยเหลือด้านอาวุธแล้ว โปโรเชนโกยังต้องการให้สหรัฐฯเดินหน้ากดดันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซียต่อไป
จากตัวเลขของยูเอ็น มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วิกฤตยูเครนไม่ต่ำกว่า 2,249 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบในภาคตะวันออกยูเครนไม่ต่ำกว่า 6,033 คน นอกจากนี้มีผู้อพยพหนีภัยสงครามภายในยูเครนจำนวน 260,000 คน และจำนวนผู้ลี้ภัยเข้าไปยังรัสเซียจำนวน 814,000 คน
สหรัฐฯ ได้ให้แพกเกจความช่วยเหลือล่าสุดกับยูเครนจำนวน 53 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแพกเกจความช่วยเหลือครั้งใหม่ประกอบไปด้วย 46 ล้านดอลลาร์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งหน่วยงานความมั่นคงยูเครนเพื่อให้สามารถควบคุมความสงบในภาคตะวันออกของประเทศได้ และอีก 7 ล้านดอลลาร์สำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม