เอเอฟพี – อาสาสมัครสาธารณสุขซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสรายแรกที่ติดเชื้ออีโบลา จะถูกส่งขึ้นเครื่องบินจากไลบีเรียกลับไปรักษาตัวในบ้านเกิดวันนี้(18) ขณะที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เตือนว่าการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสมรณะอาจก่อ “หายนะทางเศรษฐกิจ” ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก
องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) เปิดเผยว่า อาสาสมัครหญิงชาวฝรั่งเศสติดเชื้อไวรัสระหว่างปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยในไลบีเรีย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศสยืนยันว่า หญิงรายนี้ “จะถูกส่งตัวกลับกรุงปารีสด้วยเครื่องบินพยาบาลที่มีการป้องกันขั้นสูงสุด”
การแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาในแอฟริกาตะวันตกครั้งนี้นับว่ารุนแรงเป็นประวัติการณ์ โดยคร่าชีวิตพลเมืองไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,400 คน และจำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังมีแนวโน้มพุ่งสูงจนควบคุมไม่ได้
เวิลด์แบงก์ออกมาแถลงเตือนเมื่อวานนี้(17)ว่า กระแสตื่นกลัวอีโบลากำลังบั่นทอนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่เชื้อแพร่ระบาดหนัก และอาจก่อให้เกิด “หายนะทางเศรษฐกิจ” ตามมา
เอ็มเอสเอฟ เป็นองค์กรแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญในการสกัดกั้นการแพร่กระจายของไวรัสอีโบลา โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่กว่า 2,000 คนเข้าไปในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นอาสาสมัครต่างชาติราว 200 คน อย่างไรก็ดี หน่วยงานสาธารณสุขหลายแห่งเตือนว่า โรงพยาบาลและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอรองรับผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจจำเป็นต้องปล่อยให้ผู้ป่วยบางคน “นอนตายข้างถนน”
เมโก เทอร์เซียน ประธานกลุ่มเอ็มเอสเอฟ ระบุว่า ผู้ติดเชื้อชาวฝรั่งเศสซึ่งมีอาการคงที่น่าจะเดินทางกลับถึงกรุงปารีสภายในวันนี้(18)
หญิงชาวเมืองน้ำหอมผู้นี้เป็นพนักงานชาวตะวันตกรายแรกของเอ็นเอสเอฟที่ติดเชื้ออีโบลา “แม้ก่อนหน้านั้นจะมีเพื่อนร่วมงานชาวแอฟริกันของเราติดเชื้อไปแล้วหลายรายก็ตาม” เขากล่าว
เอ็มเอสเอฟ ปฏิเสธที่จะเผยรายละเอียดเกี่ยวกับหญิงชาวฝรั่งเศส ซึ่งพวกเขาบอกว่าถูกส่งไปห้องแยกโรคตั้งแต่วันอังคาร(16) หลังแสดงอาการป่วยคล้ายกับผู้ติดเชื้ออีโบลา
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเตรียมเรียกประชุมฉุกเฉินในวันพฤหัสบดี(19) เพื่อหาทางระดมความช่วยเหลือจากทั่วโลกตอบสนองต่อวิกฤตสาธารณสุขครั้งนี้ ขณะที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ก็รับปากจะส่งทหารอเมริกัน 3,000 นายไปยังแอฟริกาตะวันตกเพื่อร่วมต่อสู้การแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา “อย่างที่ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อน”
การระบาดของไวรัสอีโบลาครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุด นับตั้งแต่มีการพบเชื้อเป็นครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปี 1976