xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้แนวคิด “อีโบลาไม่มีจริง” มีต้นตอมาจากความเกลียดชัง “ลัทธิล่าอาณานิคม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - หนึ่งในลักษณะที่แปลกประหลาดกว่าโรคระบาดชนิดอื่นๆ ของ “อีโบลา” ก็คือ การที่มีคนกลุ่มหนึ่งในแอฟริกาตะวันตกปฏิเสธว่า ไวรัสมรณะชนิดนี้ “ไม่มีอยู่จริง” แม้ว่าครอบครัวและเพื่อนๆ รอบข้างจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม
 เชคห์ อิบรอฮิมา เนียง อาจารย์มหาวิทยาลัยเซเนกัล
ไวรัสเพชฌฆาตชนิดนี้ได้แพร่ระบาดไปทั่วภูมิภาค จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 1,500 คนนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กระนั้นการทำหน้าที่ของแพทย์และพยาบาลก็ยังถูกขัดขวาง โดยกลุ่มผู้ประท้วงที่พากันโกรธแค้น เนื่องจากเชื่อว่า อีโบลาเป็นเพียงสิ่งที่โลกตะวันตกกุขึ้นมา

นักสังคมและมานุษยวิทยาแถวหน้าคนหนึ่ง ซึ่งลงพื้นที่สำรวจตามหมู่บ้านต่างๆ ที่เกิดการแพร่ระบาดได้ยอมรับว่า แนวคิด “ปฏิเสธอีโบลา” นั้นอาจซับซ้อนมากกกว่าที่เห็นแรกๆ

เชคห์ อิบรอฮิมา เนียง อาจารย์มหาวิทยาลัยเซเนกัล กล่าวกับเอเอฟพีว่า “การที่คนไม่เชื่อว่าอีโบลามีจริงนั้นสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขากำลังต่อต้านอะไรบางอย่างอยู่”

“พวกเขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีใครปรึกษาหรือถามไถ่ความคิดเห็นพวกเขา ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองกำลังถูกปฏิบัติแบบสมัยพ่อปกครองลูก”

แพทย์และพยาบาล ซึ่งบ่อยครั้งเป็นคนขององค์การระดับโลก ไม่เพียงแต่ต่อสู้กับโรคระบาดชนิดนี้ แต่ยังต้องต่อสู้กับความไม่เชื่อ ที่หยั่งรากฝังลึกในชุมชนต่างๆ ซึ่งบ่อยครั้งถูกครอบงำด้วยข่าวลือหนาหูว่า โลกตะวันตกเป็นผู้คิดค้นไวรัสชนิดนี้ขึ้นมา หรือไม่ก็เป็นเรื่องหลอกลวง

แนวคิดอีโบลาไม่มีอยู่จริงได้จุดประกายให้เกิดความโกลาหลในกรุงมันโรเวีย ประเทศไลบีเรียเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เมื่อวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งควงกระบองบุกโจมตีศูนย์กักกันผู้ติดเชื้อ พลางร้องตะโกนว่า “อีโบลาไม่มีจริง” จนทำให้คนไข้อีโบลา 17 คนในศูนย์วิ่งหนีกระเจิดกระเจิง

เนียงกล่าวกับเอเอฟพี ในการให้สัมภาษณ์ ณ มหาวิทยาลัยเชคห์ อันตา ดีโอป ของเซเนกัลว่า “เราต้องย้อนถามว่า อะไรทำให้พวกเขาตะโกนออกไปแบบนั้น”

“ประชาชนเชื่อฝังใจว่า ตนเองไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมด หรือไม่เห็นด้วยกับมาตรการป้องกันโรค และขั้นตอนการรักษาที่พวกเขาได้รับ”

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เนียงได้ไปลงพื้นที่ในเขตเคเนมา และไคลาฮุน ทางภาคตะวันออกของเซียร์ราลีโอน โดยรับหน้าที่เป็นแนวหน้าต่อสู้กับการแพร่ระบาด ซึ่งหนึ่งในภารกิจขององค์การอนามัยโลก (WHO)

เนียงเชื่อว่า การปิดพรมแดนซึ่งเป็นวิธีที่ “ไร้ประโยชน์” เป็นตัวอย่างหนึ่งของแนวทางผิดๆ ซึ่งเป็นการหลอกให้ประชากรที่ตกอยู่ในความเสียงรู้สึกปลอดภัย และเป็นทำให้ชาวบ้านสบายใจ”

เขากล่าวว่า “มีสุภาษิตแอฟริกันที่สำคัญมากบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า การดับไฟที่ลามมาถึงเมืองหรือหมู่บ้านต้องดับที่ต้นตอ การขังตัวเองไว้ในบ้าน และกักตุนน้ำไว้รอดับตอนไฟลามมาถึงบ้านตัวเอง จึงไม่ใช่วิธีที่จะดับไฟได้สำเร็จ”

เขาถามว่า “ตอนกลางคืน มีคนข้ามพรมแดนออกโดยใช้เส้นทางป่าและทางเส้นเล็กๆ ไม่รู้ตั้งเท่าไร เพราะเส้นแบ่งเขตแดนเหล่านี้เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคอาณานิคม เป็นเส้นแบ่งที่กำหนดขึ้นมาเอง”

เนียงกล่าวว่า วิธีการอันเข้มงวดที่คลินิกใช้ต่อสู้กับเชื้ออีโบลาประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อย เนื่องจากไม่ได้ใส่ใจความรู้สึกของคนในท้องถิ่น

เขากล่าวกับเอเอฟพีว่า “พวกเขาเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาจัดการกับโรค โดยไม่ดูบริบทสังคม นี่คือคือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเขารับมือกับปัญหาอย่างเหมาะสมได้เชื่องช้าไม่ทันกาล”

เนียงเชื่อว่า การที่ชาวแอฟริกันลังเลไม่ยอมรับวิธีการรักษาสมัยใหม่นั้นเป็นผลมาจาก “วิสัยทัศน์ในการรักษาที่ลดลง”

ปัญหาจึงไม่ใช้การที่ชาวบ้านไม่เชื่อมั่นในวิธีการรักษา แต่เกิดจากการที่ชาวบ้านเคลือบแคลงสงสัยในวัฒนธรรมของผู้รุกราน ที่เข้าในประเทศบ้านเกิดของพวกเขา แล้วออกคำสั่งให้พวกทำตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น