สบส. เผยตรวจห้องแยกโรค รพ.ทั่วประเทศ พบ 90% พร้อมรับมืออีโบลาแล้ว ส่วนที่เหลือให้คำแนะนำปรับปรุง คาดสัปดาห์หน้าพร้อมทั่วประเทศ ระบุเร่งให้ความรู้โรคอีโบลาแก่ รพ.เอกชนและคลินิก ย่านชาวแอฟริกันอาศัย เพื่อเตรียมพร้อมคัดกรองอีโบลาส่งต่อตามระบบ จ่อตั้งทีมให้ความรู้ถึงคลินิกเร็วๆ นี้
วันนี้ (27 ส.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสัมมนาเรื่อง การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภาคเอกชน เพื่อรองรับสถานการณ์ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา จัดโดย สบส. ร่วมกับ กรมการแพทย์ และกรมควบคุมโรค ว่า การประชุมครั้งนี้ได้เชิญบุคลากรทางการแพทย์จากสถานพยาบาลเอกชนบริเวณ กทม. และปริมณฑล ทั้งโรงพยาบาลและคลินิกจำนวนกว่า 100 แห่ง รวม 130 คน เพื่อซักซ้อมการเตรียมความพร้อมรับมือโรคติดเชื้ออีโบลา โดยเน้น รพ.เอกชน และคลินิกบริเวณพื้นที่เสี่ยง คือ บริเวณที่มีชาวแอฟริกันเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ประตูน้ำ นานา สุขุมวิท และทองหล่อ เป็นต้น เนื่องจากเป็นดินแดนที่มีการระบาด ประกอบกับเมื่อเจ็บป่วยก็มักจะเข้ามารักษาที่คลินิก หรือ รพ.เอกชน บริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีระบบรายงานว่ามีชาวแอฟริกันเข้ามารับการรักษาเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งในเร็วๆ นี้ จะมีการตั้งทีมลงไปตรวจเยี่ยมสถานพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้เพื่อให้ความรู้ในการรับมือโรคอีโบลาด้วย
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ส่วนภูมิภาคจะประสานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งมีประจำอยู่ทั่วประเทศ ในการให้ความรู้เรื่องโรคอีโบลาแก่ประชาชน เพื่อลดความตื่นตระหนก และให้โรงพยาบาลทั้งหมดเตรียมความพร้อมห้องแยกโรค เนื่องจากไม่ได้มีการเปิดใช้มานาน จากการส่งเจ้าหน้าที่กองวิศวกรรมการแพทย์ลงตรวจห้องแยกโรคของโรงพยาบาลในภูมิภาคทั้งหมด พบว่า มีความพร้อมแล้ว 90% ส่วนที่เหลือได้ให้คำแนะนำในการปรับปรุงแล้วเรียบร้อย คาดว่า จะมีความพร้อมรับมือโรคติดเชื้ออีโบลสทั้งหมดในสัปดาห์หน้า
พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมให้แก่สถานพยาบาลเอกชนที่สำคัญคือ การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคอีโบลา ทั้งการดูแลผู้ป่วยและการป้องกันตนเอง โดยหลักเกณฑ์จะให้มีการติดป้ายคำเตือนหน้าสถานพยาบาลว่า หากมีไข้และเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด ให้ผู้ป่วยแจ้งก่อนทุกครั้งเพื่อเตรียมความพร้อม เนื่องจากจุดคัดกรองโรคของ รพ.เอกชนจะอยู่บริเวณส่วนหน้าโรงพยาบาล ส่วนคลินิกจะอยู่บริเวณที่ทำบัตรผู้ป่วย จากนั้นให้สอบประวัติผู้ป่วย หากพบว่ามีไข้ มีประวัติการเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด และมีการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งให้เป็นผู้ป่วยต้องสงสัย ให้รีบส่งต่อไปยังสถานพยาบาลตามระบบทันที โดยแจ้งทีมสอบสวนโรคของ คร. เบอร์ 1422 ก็จะมีเจ้าหน้าที่มารับตัวไปยังสถานพยาบาลที่งางไว้ คือ สถาบันบำราศนราดูร รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตน์ราชธานี และ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
พญ.นฤมล กล่าวว่า หากมีการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ใดๆ กับผู้ป่วยต้องสงสัย ให้ยึดตามมาตรฐานของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐฯ และองค์การอนามัยโลกคือ อุปกรณ์ที่ใช้แล้วต้องทิ้ง ให้แยกเป็นขยะติดเชื้อ โดยก่อนนำไปทิ้งต้องมีการทำลายเชื้อก่อน ส่วนอุปกรณ์ที่ต้องทำความสะอาด ก็ต้องทำตามมาตรฐานเช่นกัน โดยสารที่วามารถฆ่าเชื้ออีโบลาได้คือสารที่ใช้ฆ่าเชื้อทั่วไปตามสถานพยาบาลคือ โซเดียมไฮโปคลอไรด์ 0.5-1% และกลูตาราลดีไฮด์ 1%
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่