เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย คลี่พรมแดงต้อนรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งเดินทางถึงเมืองอาห์เมดาบัด อันเป็นบ้านเกิดของเขาเมื่อวันพุธ (17 ก.ย.) เพื่อเริ่มต้นการเยือนแดนภารตะเป็นเวลา 3 วัน โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งแสวงหาทางปรับสายสัมพันธ์แบบคู่แข่งขันกันของมหาอำนาจยักษ์ใหญ่เอเชีย 2 รายนี้ ให้ก้าวขึ้นสู่ระยะใหม่อันสดใส ทั้งนี้คาดหมายกันว่า การเจรจาหารือกันจะเทความสำคัญให้กับความต้องการของอินเดียในการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานและลดยอดขาดดุลการค้า โดยผู้นำจีนโปรยยาหอมในหนังสือพิมพ์แดนภารตะว่า การผนึกกำลังระหว่าง “โรงงานของโลก” กับ “หน่วยงานแบ็กออฟฟิศของโลก” จะเป็นการผสมผสานอย่างลงตัวสู่ชัยชนะ
โมดี ทุ่มเต็มที่ในการต้อนรับ สี อย่างสมเกียรติ โดยมีการขึ้นป้ายภาพโมดีและสี พร้อมข้อความแสดงความยินดีต้อนรับทั้งภาษาจีนกลาง ภาษาคุชราต และภาษาอังกฤษ ทั่วเมืองอาห์เมดาบัด เมืองหลวงด้านการเงินของรัฐคุชราต ที่เป็นทั้งบ้านเกิดและเป็นฐานอำนาจทางการเมืองของเขา นอกจากนั้น โมดี ยังจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อสร้างความชิดเชื้อสนิทสนมที่บริเวณริมแม่น้ำซาบาร์มาตี โดยที่ในวันพุธ (17) ก็เป็นวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 64 ปีของเขาด้วย
ตามกำหนดการนั้น ในวันพฤหัสบดี (18) สีจะหารืออย่างเป็นทางการและร่วมลงนามข้อตกลงหลายฉบับกับโมดี และประธานาธิบดีปรานาบ มุกเคอร์จี ที่นิวเดลี ก่อนเดินทางกลับจีนในวันศุกร์
ทั้งนี้ การเลือกคุชราตเป็นจุดเริ่มต้นการเยือนอินเดีย แทนที่จะเป็นเมืองหลวงคือนิวเดลี บ่งชี้ให้เห็นถึงการฉีกขนบเดิมๆ และส่งสัญญาณถึงความสัมพันธ์ที่อบอุ่นระหว่างจีนและอินเดีย
ในบทความที่ตีพิพม์ผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์เดอะ ฮินดู ของอินเดียฉบับวันพุธ สีกล่าวว่า ความสัมพันธ์จีน-อินเดียเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีพลวัตและมีอนาคตที่สุดในศตวรรษที่ 21
“ในฐานะที่เป็นเครื่องจักร 2 เครื่องของเศรษฐกิจเอเชีย จีนและอินเดียต้องเป็นหุ้นส่วนร่วมมือกันในการบุกเบิกการเติบโตขยายตัว”
ผู้นำแดนมังกรสำทับว่า ฐานการผลิตที่แข็งแกร่งของจีน ที่เป็นเสมือน “โรงงานของโลก” และทักษะทางด้านซอฟต์แวร์และวิทยาศาสตร์ของอินเดียซึ่งเป็นเสมือน “หน่วยงานแบ็กออฟฟิศของโลก” มีศักยภาพอันมากมายมหาศาล ในการเป็นฐานการผลิตและในการสร้างตลาดผู้บริโภค
สียังมาพร้อมคำมั่นสัญญาที่จะทำการลงทุนนับหมื่นๆ ล้านดอลลาร์ในระบบรางรถไฟ นิคมอุตสาหกรรม และถนนหนทางของอินเดีย ขณะที่โมดีต้องการเจาะตลาดบริการไอทีและเวชภัณฑ์จีน เพื่อลดยอดขาดดุลการค้าที่เสียเปรียบแดนมังกรอยู่
เวลานี้ จีนได้กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอินเดียไปแล้ว โดยมีมูลค่าการค้าร่วมกันสูงกว่า 65,000 ล้านดอลลาร์ ทว่านิวเดลีขาดดุลปักกิ่งอย่างหนักถึงกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ จากเพียงแค่ 1,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2001-02
นอกจากนี้ คาดหมายกันว่าผู้นำทั้งสองยังอาจหารือ เพื่อร่วมทำโครงการนิวเคลียร์พลเรือน และหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาการออกวีซ่าที่ขัดแย้งกันมานาน
โมดีนั้นแสดงความต้องการผูกสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวกับสี เหมือนที่มีความสนิทชิดเชื้อกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ที่ได้โทรศัพท์อวยพรวันเกิดเขาตั้งแต่เช้าตรู่วันพุธ ขณะที่สีก็ต้องการกระชับสัมพันธ์กับอินเดียในเวลาที่แดนมังกรกำลังมีข้อพิพาทด้านดินแดนอย่างรุนแรงกับทั้งญี่ปุ่นและอีกหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ระหว่างที่ โมดี ไปเยือนญี่ปุ่นตอนต้นเดือนนี้ อาเบะได้ให้คำมั่นว่าญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนที่อินเดียคิดเป็นมูลค่า 35,000 ล้านดอลลาร์ภายในระยะ 5 ปีจากนี้ไป ในเรื่องนี้ หลิว หยูฟา กงสุลใหญ่ของจีนประจำเมืองมุมไบ (บอมเบย์) ของอินเดีย ได้บอกกับหนังสือพิมพ์ “ไทมส์ออฟอินเดีย” ก่อนหน้าการมาเยือนของประธานาธิบดีจีนว่า สีจะมา “ให้สัญญาว่าจะลงทุนเป็นมูลค่าสูงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์” หลิวยังย้ำว่า ตัวเลขดังกล่าวคือ 3 เท่าตัวของการลงทุนจากทางญี่ปุ่น
ทว่า เบื้องหลังรอยยิ้มและการถ้อยทีถ้อยอาศัยทางการค้า เส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับจีนที่ต่างครอบครองอาวุธนิวเคลียร์กันทั้งคู่ ก็มีขวากหนามสำคัญจากการแข่งขันกันด้านพลังงานและการขยายอิทธิพลในภูมิภาค รวมทั้งข้อพิพาทด้านพรมแดนที่นำไปสู่สงครามนองเลือดช่วงสั้นๆ เมื่อ 52 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้แม้มีการต้อนรับเอิกเกริก แต่ก็ไม่อาจปิดบังรอยร้าวในความสัมพันธ์จากกรณีข้อพิพาทพรมแดนและเรื่องที่อินเดียทำข้อตกลงกับเวียดนามในการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในพื้นที่ของทะเลจีนใต้ ซึ่งปักกิ่งอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกับฮานอยอยู่
กระนั้น ในบทความในหนังสือพิมพ์ฮินดู สีก็ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายสามารถจัดการกับปัญหาและความเห็นต่างด้วยความเหมาะควรได้
ขณะเดียวกัน อินเดียก็พยายามอย่างมากเพื่อให้การเยือนของ สี เป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด เป็นต้นว่า ขอให้ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต เปลี่ยนกำหนดการเดินทางสู่นิวเดลีในวันศุกร์ เพื่อไม่ให้ชนกับการเยือนของผู้นำจีน
ก่อนเดินทางถึงอินเดีย สีแวะเยือนมัลดีฟส์ และศรีลังกา ซึ่งอินเดียถือเป็นเขตอิทธิพลของตน โดยที่ในตอนเช้าวันพุธก่อนขึ้นเครื่องบินมุ่งสู่อินเดีย สี ได้เข้าร่วมพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการท่าเรือยักษ์แห่งใหม่มูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์ ในกรุงโคลัมโบ ของศรีลังกา