xs
xsm
sm
md
lg

ทุกวิชาชีพเห็นพ้องไม่เอาค่าตอบแทน ฉ.10 ของหมอชนบท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทุกวิชาชีพเว้นแพทย์ชนบท เห็นพ้องค่าตอบแทน ฉบับ 8.1 และ 9 เตรียมเข้าที่ประชุมชุดใหญ่ฟันธง 29 พ.ย.“ประดิษฐ” ขออย่าไปบ้านนายกฯ
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.
วันนี้ (25 พ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น.ที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กล่าวภายหลังประชุมเรื่องค่าตอบแทนร่วมกับทุกวิชาชีพ ยกเว้นแพทย์ชนบท ว่า ที่ประชุมซึ่งมีตัวแทนจากประชาคม สธ.ซึ่งมีถึง 27-28 วิชาชีพ ได้เห็นตรงกันว่าจะออกหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 8.1 และฉบับที่ 9 โดยจะนำผลการประชุมในครั้งนี้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐ ที่มี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งตั้งตามมติ ครม.ในวันที่ 29 พ.ย.นี้ หากที่ประชุมเห็นชอบก็จะนำเข้า ครม.ทันที และจะมีผลในวันที่ 1 ธ.ค. 2556 ซึ่งการเดินหน้าดังกล่าวจะช่วยให้สายงานแบ็กออฟฟิศที่ไม่มีส่วนได้รับค่าตอบแทนในฉบับ 8.1 จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากการจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงานตามฉบับ 9 ซึ่งหากมีการประกาศใช้หลักเกณฑ์ทั้ง 2 ฉบับ ในส่วนของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานตามมติ ครม.จะสิ้นสุดและให้จ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามประกาศฉบับใหม่

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ แม้จะมีประกาศทั้งสองฉบับแล้ว ทุกวิชาชีพยังเห็นตรงกันว่าจะต้องส่งตัวแทนแต่ละวิชาชีพมาร่วมจัดแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนทั้งระบบใหม่ โดยปรับปรุงทั้ง 2 ฉบับให้ดีขึ้น หลักเกณฑ์สมบูรณ์ขึ้น ซึ่งจะต้องใช้เวลาทำข้อเสนอ 2 เดือนคือ ธ.ค. 2556 - ม.ค. 2557 เพื่อเสนอ ครม.และให้ทันในการประกาศใช้ เม.ย. 2557

นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า สำหรับหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ 9 เป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน จะมีการพิจารณาทั้งปริมาณงานและคุณภาพงานอัตรา 50 ต่อ 50 จากเดิมที่วัดคุณภาพงานเพียง 10-30% ส่วนหลักเกณฑ์ฯ ฉบับ 8.1 ที่แตกต่างฉบับ 8 คือ เภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) พื้นที่ปกติปรับจาก 3,000-5,000 บาท เป็น 3,500-5,500 บาท พยาบาลวิชาชีพ/สหวิชาชีพ รพช.พื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่ปกติ อยู่ในพื้นที่ 11 ปีขึ้นไป จาก 1,800 บาท เพิ่มเป็น 2,400 บาท พื้นที่เฉพาะกลุ่ม 1 ปรับเพิ่มจาก 1,500-2,500 บาทเป็น 2,000-3,000 บาท พื้นที่เฉพาะกลุ่ม 2 ปรับเพิ่มจาก 3,000-4,000 บาท เป็น 3,500-4,500 บาท และพยาบาลวิชาชีพ/สหวิชาชีพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) พื้นที่ปกติอยู่ในพื้นที่ 11 ปีขึ้นไป ปรับจาก 1,800 บาท เป็น 2,400 บาท พื้นที่เฉพาะ อยู่ในพื้นที่ 1-3 ปี ปรับจาก 2,400 บาท เป็น 3,000 บาท และอยู่ในพื้นที่ 11 ปีขึ้นไป ได้รับ 4,000 บาท ส่วนแพทย์/ทันตแพทย์ได้รับตามฉบับ 8 ตั้งแต่ 10,000-60,000 บาท

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า สิ่งที่แพทย์ชนบทเรียกร้องมาทั้ง 4 ข้อ ตนก็ดำเนินการให้ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนไม่ใช่ว่าจะเรียกร้องขอฉบับ 10 แล้วก็จะให้ได้เลย แม้ในการประชุมในวันนี้ทุกวิชาชีพจะเห็นด้วยกับการเดินหน้าออกประกาศฉบับ 8.1 แต่ตนก็จะนำข้อเสนอฉบับ 10 ของแพทย์ชนบทรวมถึงข้อเสนอข้ออื่นๆ ของแพทย์ชนบทเข้าที่ประชุมในวันที่ 29 พ.ย.นี้ด้วย ซึ่งจะมีตัวแทนจากทุกวิชาชีพ รวมถึงผู้แทนภาคส่วนต่างๆ อาทิ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสถานพยาบาลสังกัดหน่วยงานอื่นเข้าร่วม จึงอยากขอให้กลุ่มแพทย์ชนบทมาร่วมผลักดันหาทางออกในเรื่องนี้

ผมทำให้ตามที่แพทย์ชนบทต้องการทุกอย่างแล้ว แต่ทุกอย่างต้องมีขั้นตอน จะให้ลงนามประกาศที่ไม่มีผลบังคับใช้ เพราะไม่ผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนคงไม่ได้ วันที่ 26 พ.ย.นี้ ก็คงไม่มีความจำเป็นต้องไปชุมนุมหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี และในวันที่ 29 พ.ย.ก็อยากขอร้องให้แพทย์ชนบทเข้าร่วมการประชุม เพราะถ้าหากอยากได้ตามที่ขอก็ต้องมาช่วยผมผลักดัน และไม่อยากให้นำเรื่องนี้เกี่ยวโยงเป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นการบริหารจัดการภายในของ สธ.” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ขณะนี้ต้องถือว่า นพ.ประดิษฐ เป็นโมฆะบุรุษ เพราะพูดกลับไปกลับมา ไม่เคยทำอย่างที่พูดไว้ เป็นคนไม่มีสัจจะซื้อเวลาไปวันๆ ซึ่งหลังจากวันที่ 20 พ.ย.ที่ได้ตกลงกันต่อหน้าสื่อมวลชนว่าจะลงนามในประกาศค่าตอบแทนฉบับ 10 เพื่อแก้ไขใน 3 ส่วน คือ 1.อัตราค่าตอบแทนของผู้ทำงาน รพช.เกิน 20 ปี 2.อัตราค่าตอบแทน รพช.เขตเมือง และ 3.ปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทนในส่วนของ รพช.พื้นที่ปกติ 2.3 ซึ่งเมื่อ นพ.ประดิษฐ ไม่ดำเนินการตามที่รับปากไว้ กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทก็จะเดินทางไปทวงถามมติครม.และแสดงเจตนารมณ์ที่บ้านนายกฯ ในเวลา 13.00 น.เพราะมติ ครม.ต้องมีผลผูกพันต่อหน่วยงานราชการ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ทั้งนี้ การที่ นพ.ประดิษฐ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าคณะกรรมการและบังคับให้กลุ่มแพทย์ชนบทเข้าร่วมนั้น ถือเป็นการสร้างความแตกแยกในกลุ่มวิชาชีพ แบ่งแยกการปกครอง เพราะวิชาชีพที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการสร้างพวกเป็นกันชนให้ตนเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น