เอเอฟพี - รัฐสภาอินโดนีเซียมีมติเห็นชอบต่อการให้สัตยาบันข้อตกลงต่อสู้ปัญหาหมอกควันระดับภูมิภาคในวันนี้ (16 ก.ย.) ขณะที่การแผ้วถางและเผาป่าบนเกาะสุมาตรากำลังก่อให้เกิดหมอกควันพิษลอยไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์
เจ้าหน้าที่สิงคโปร์และมาเลเซียต่างร้องเรียนปัญหามลพิษที่เกิดจากหมอกควันไฟป่าของอินโดนีเซีย ซึ่งนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรง และเกิดบ่อยขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ค่ามลพิษทางอากาศในสิงคโปร์พุ่งถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเมื่อวานนี้ (15) ขณะที่ทางการอินโดนีเซียยังคงไร้หนทางควบคุมเพลิงซึ่งเผาไหม้พื้นที่ป่าเขตร้อนบนเกาะสุมาตรา
การตัดสินใจของรัฐสภาอิเหนาได้รับการประกาศเป็นกฎหมายแล้ว
การให้สัตยาบันต่อข้อตกลงว่าด้วยหมอกควันข้ามแดน (Agreement on Transboundary Haze Pollution) ซึ่งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จัดทำขึ้นเมื่อปี 2002 จะมีผลผูกพันทำให้อินโดนีเซียต้องประกาศนโยบายต่อสู้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างจริงจัง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกับประเทศภาคี และทุ่มเททรัพยากรมากยิ่งขึ้นทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค
รัฐบาลอินโดนีเซียลงนามข้อตกลงฉบับนี้เมื่อ 12 ปีที่แล้ว แต่กลับไม่ยอมให้สัตยาบันเสียที และหลังจากที่ถูกเพื่อนบ้านกดดันมาโดยตลอดก็เพิ่งจะยอมพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจังในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
“อินโดนีเซียได้มีมาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ตลอดจนมีกิจกรรมฟื้นฟูในระดับชาติ” ถ้อยแถลงจากรัฐสภาแดนอิเหนาระบุ
“อย่างไรก็ตาม การจะแก้ไขวิกฤตหมอกควันที่ลอยข้ามแดนนั้น อินโดนีเซียและชาติสมาชิกอาเซียนต่างตระหนักดีว่า การป้องกันและบรรเทาปัญหาจะต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย”
แม้หมอกควันจากไฟป่าอินโดนีเซียจะลอยไปปกคลุมมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นประจำทุกปี แต่ระดับมลพิษในอากาศพุ่งสูงสุดในรอบทศวรรษเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วทำให้ทั้ง 2 ชาติต้องออกมาจี้ให้รัฐบาลอิเหนาจริงใจกับการแก้ปัญหามากกว่านี้
อินโดนีเซียระบุว่า ไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากชาวบ้านแผ้วถางและเผาที่ดินเพื่อเตรียมเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นกระดาษและปาล์มน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการจับกุมผู้กระทำผิดทุกรายที่พบ
วิกฤตหมอกควันครั้งเลวร้ายในปี 2013 ยังจุดชนวนข้อพิพาททางการทูต โดยรัฐบาลจาการ์ตากล่าวหาว่า บริษัทสัญชาติมาเลเซียและสิงคโปร์ที่เข้าไปทำการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจบนเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวในส่วนที่เป็นอินโดนีเซีย ก็คือพวกที่จุดไฟเผาป่า
เมื่อเดือนที่แล้ว สิงคโปร์ได้ออกกฎหมายใหม่ซึ่งให้อำนาจแก่รัฐบาลในการสั่งปรับบริษัทที่เป็นต้นเหตุ หรือมีส่วนก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน เป็นวงเงินสูงสุด 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 51 ล้านบาท) ไม่ว่าบริษัทดังกล่าวจะมีสำนักงานในสิงคโปร์หรือไม่ก็ตาม