xs
xsm
sm
md
lg

อินโดนีเซียออกโรงเตือนมาเลย์-สิงคโปร์-ไทย ระวัง “วิกฤตหมอกควันรอบใหม่” หลัง “ฤดูไฟป่าสุมาตรา” เปิดฉาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ทางการอินโดนีเซียประกาศเตือนในวันพฤหัสบดี (26 มิ.ย.) ให้ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์และไทย ระวังผลกระทบจาก “ไฟป่าระลอกใหม่” จากเกาะสุมาตรา พร้อมเตือนวิกฤตหมอกควันที่มีต้นตอจากไฟป่าในแดนอิเหนาปีนี้อาจเลวร้าย “ไม่ต่างจากปีที่แล้ว”

ซูโตโป ปูร์โว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซีย ออกมาแถลงที่กรุงจาการ์ตา โดยระบุว่า “ฤดูกาลแห่งไฟป่า” ของอินโดนีเซียทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ได้เริ่มเปิดฉากขึ้นแล้วในเดือนนี้ และคาดว่าไฟป่าจากอินโดนีเซียโดยเฉพาะที่มีต้นตอจากพื้นที่ “ฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา” อาจส่งผลให้เกิดวิกฤตหมอกควันครั้งใหญ่ปกคลุมน่านฟ้าของมาเลเซียและสิงคโปร์ รวมถึงบางส่วนของประเทศไทย

คำแถลงล่าสุด ถือเป็นการออกมายอมรับเป็นครั้งแรกว่ารัฐบาลอินโดนีเซียไม่มีหนทางยับยั้งวิกฤตหมอกควันครั้งใหม่ในปีนี้ ที่เกิดขึ้นซ้ำรอยวิกฤตหมอกควันในปี 2013 ที่ผ่านมา ที่สร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนหลายล้านคน และยังจุดชนวนให้เกิดข้อพิพาททางการเมืองระหว่างอินโดนีเซียกับเพื่อนบ้านในอาเซียน

โฆษกสำนักงานบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซียยอมรับว่า ความพยายามของรัฐบาลอินโดนีเซียตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาในการปลุกจิตสำนึกให้แก่เกษตรกรและชาวบ้านบนเกาะสุมาตราให้ยุติการเผาป่านั้นยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และชาวบ้านจำนวนมากยังคงยืนยันจะใช้วิธีการจุดไฟเผาป่า เพื่อแผ้วถางพื้นที่เตรียมรองรับการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ “ปาล์มน้ำมัน” เช่นเดิมต่อไป

จนถึงขณะนี้มีรายงานการเกิดไฟป่าบนเกาะสุมาตราแล้วกว่า “366 จุด” ขณะที่กระแสลมที่พัดผ่านเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียในช่วงนี้ กำลังพัดไปในทิศตะวันออก-ตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งทำให้มีความเสี่ยงอย่างมากที่กลุ่มหมอกควันจากไฟป่าบนเกาะสุมาตราอาจถูกพัดไปถึงสิงคโปร์และมาเลเซียในไม่ช้า

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลออสเตรเลียเคยออกคำเตือนว่า วิกฤตหมอกควันจากไฟป่าในอินโดนีเซียปีนี้ อาจมีความรุนแรงมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา จากผลพวงของปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่จะเกิดขึ้นในเอเชียในปีนี้ เนื่องจากปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้สภาพอากาศของอินโดนีเซียมีความ “ร้อน-แล้ง” มากกว่าปกติซึ่งเอื้อต่อการเกิดไฟป่า



กำลังโหลดความคิดเห็น