เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผู้เชี่ยวชาญเตือนการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสี่ยงเผชิญหายนะครั้งเลวร้ายจากผลพวงของปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ในปีนี้
โดนัลด์ คีนีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาในมลรัฐแมริแลนด์ของสหรัฐฯ เผยว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกปาล์มน้ำมันสำคัญของโลก จะต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งกว่าปกติจากผลพวงของปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคมปีนี้
ผลพวงจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะเข้าโจมตีภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหนักหน่วงในปีนี้จะมีผลให้ปริมาณน้ำฝนตามธรรมชาติที่เคยตกในอินโดนีเซียและมาเลเซียมีปริมาณลดลงอย่างสำคัญ และกระทบต่อผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศทั้งสองที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกที่สามารถผลิตปาล์มน้ำมันได้รวมกันกว่า 86 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณปาล์มน้ำมันทั่วโลก
ขณะเดียวกัน นอกจากเอลนีโญจะทำให้ฝนหายไปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังจะส่งผลให้เกิด “ไฟป่า” ครั้งใหญ่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะนำมาซึ่ง “วิกฤตหมอกควัน” ครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี
ด้านสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของออสเตรเลีย (เอบีเอ็ม) ออกมาเปิดเผยว่า มีโอกาสสูงเกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ที่ซีกโลกใต้จะต้องเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ ขณะที่ศูนย์พยากรณ์สภาพอากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (ยูเอสซีพีซี) ประกาศปรับเพิ่มความเสี่ยงที่ซีกโลกใต้ รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องเผชิญกับหายนะจากปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้จาก 52 เปอร์เซ็นต์ เป็น 65 เปอร์เซ็นต์
เจฟฟรีย์ เคอร์รี นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ เผยว่า นอกเหนือจากปาล์มน้ำมันแล้ว สินค้าเกษตรอื่นๆ ที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายหนักจากผลของปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ ยังรวมถึงกาแฟ โกโก้ และน้ำตาล
ทั้งนี้ เมื่อเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ กระแสลมสินค้าตะวันออกในมหาสมุทรแปซิฟิกจะอ่อนกำลังลง ขณะที่กระแสลมพื้นผิวจะเปลี่ยนทิศทางพัดจากประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียตอนเหนือไปทางตะวันออก แล้วยกตัวขึ้นเหนือชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ ก่อให้เกิดฝนตกหนักในทวีปอเมริกาใต้แต่ยังก่อให้เกิดความแห้งแล้งรุนแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนเหนือของออสเตรเลีย