xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : “ปูติน” รุกหนักอ้าง “ความเป็นรัฐ” ในยูเครนตะวันออก – ขู่ยึด “เคียฟ” ได้ใน 2 สัปดาห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
สถานการณ์ความขัดแย้งในภาคตะวันออกของยูเครนกำลังเป็นที่น่าจับตามอง หลังจากกบฏแบ่งแยกดินแดนสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ ขณะที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำแดนหมีขาว ก็เริ่มหันมาใช้สำนวนภาษาข่มขู่คุกคามต่อยูเครนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผู้สันทัดกรณีมองว่า ปูติน กำลังฝากคำเตือนนัยๆ ไปยังกรุงเคียฟให้ยอม “เจรจา” กับพวกกบฏ ก่อนจะต้องสูญเสียมากกว่าที่คิดไว้

แม้ว่า ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกประจำตัวประธานาธิบดี ปูติน จะออกมาแก้ข่าวว่า ผู้นำรัสเซียไม่ได้มีเจตนาเรียกร้องเอกราชให้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน หลังจากเมื่อวันอาทิตย์ (31 ส.ค.) เขาได้เตือนให้รัฐบาลยูเครนกับฝ่ายกบฏเปิดเวทีเจรจา “เกี่ยวกับองค์กรการเมืองและความเป็นรัฐ (statehood) ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน”

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากทิศทางการต่อสู้ซึ่งกลุ่มกบฏพลิกกลับมาเป็นฝ่ายรุกได้ในชั่วเวลาเพียง 1 สัปดาห์ คำพูดเช่นนี้ของ ปูติน อาจสื่อความหมายเป็น “ลางร้าย” สำหรับกรุงเคียฟ

นับเป็นครั้งแรกที่ ปูติน ได้เอ่ยชัดเจนถึง “ความเป็นรัฐ” ในยูเครนตะวันออก ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายรัสเซียและยังพูดภาษารัสเซียเป็นหลัก และเป็นพื้นที่ซึ่งกลุ่มกบฏเอียงข้างมอสโกได้จับอาวุธต่อสู้กับกองทัพยูเครนมาตั้งแต่เดือนเมษายนจนมีผู้สังเวยชีวิตแล้วมากกว่า 2,600 คน

สิ่งที่ผู้นำรัสเซียกล่าวอาจแปลความได้ง่ายๆ ว่า ถ้ายูเครนยังดึงดันไม่ยอมพิจารณาเรื่องการปกครองแบบสหพันธรัฐ (federalization) ซึ่งจะช่วยให้ยูเครนฝั่งตะวันออกมีอำนาจปกครองตนเองเพิ่มขึ้นตามที่รัสเซียเสนอแนะ เคียฟอาจจะต้องเผชิญข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่หนักหนาสาหัสยิ่งกว่า

“ผมมองว่านี่เป็นคำเตือนที่ทั้งโจ่งแจ้งและแอบแฝง ปูตินต้องการจะบอกว่ายิ่งสถานการณ์ยืดเยื้อหรือยูเครนใช้เวลาคิดมากขึ้นเท่าใด เงื่อนไขก็จะยิ่งบีบคั้นมากขึ้นเป็นเงาตามตัว” ฟิโอดอร์ ลุคยานอฟ บรรณาธิการบริหารวารสาร Russia in Global Affairs ระบุ

ลุคยานอฟ ชี้ว่า การที่พวกกบฏเริ่มช่วงชิงความได้เปรียบในการสู้รบ ซึ่งยูเครนและชาติตะวันตกก็รู้แน่แก่ใจว่าเป็นเพราะรัสเซียคอยให้ความช่วยเหลืออย่างลับๆ “อย่างน้อยผู้นำยูเครนคงจะได้ฉุกคิดขึ้นมาบ้างว่า สงครามครั้งนี้พวกเขาไม่มีวันชนะ เพราะฉะนั้นพวกเขาต้องเลือกระหว่างการปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปไม่จบสิ้น หรือจะยอมเปิดเจรจาอย่างจริงจังตามที่ ปูติน เสนอ”
ขบวนรถถังของกองทัพยูเครนแล่นไปบนท้องถนนในภูมิภาคโดเนตสก์ เมื่อวันที่ 3 กันยายน
ไม่กี่วันมานี้ หนังสือพิมพ์ ลา เรปุบลิกา ของอิตาลียังได้อ้างถึงคำขู่ของ ปูติน ที่ว่า กองทัพอันเกรียงไกรของแดนหมีขาวมีแสนยานุภาพมากพอที่จะกรีฑาทัพบุกเข้ายึดกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ได้ในเวลาเพียง “2 สัปดาห์” หากรัสเซียต้องการจะทำจริงๆ

สื่อดังแดนมะกะโรนีอ้างว่า ปูติน ได้เอ่ยคำพูดนี้ระหว่างการพบปะกับ โฆเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปชาวโปรตุเกสเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถือเป็นการ “ส่งสัญญาณเตือน” อย่างเป็นทางการไปยังบรรดาผู้นำชาติในยุโรปถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น หากอียูยังดึงดันจะยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียตามแรงกดดันจากสหรัฐฯ

นอกจากการเลือกใช้คำของ ปูติน ที่บ่งบอกนัยยะบางอย่างแล้ว คำว่า “โนโวรอสสิยา” หรือ “รัสเซียใหม่” ที่พวกกบฏยูเครนใช้เรียกขานดินแดนภาคตะวันออก ก็ถูกรัฐบาลหมีขาวนำมาใช้บ่อยขึ้นจนเป็นที่น่าสังเกต

ปูติน เอ่ยคำว่า “โนโวรอสสิยา” เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน โดยอธิบายว่าเป็นคำเก่าสมัยซาร์ (Tsar) ที่ใช้เรียกดินแดนซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาก่อน แต่ถูกผนวกเข้ากับยูเครนไปเมื่อช่วงทศวรรษ 1920 ซึ่งเป็นยุคที่สหภาพโซเวียตเรืองอำนาจใหม่ๆ

รัฐบาลยูเครนมองว่าคำนี้เป็นการดูหมิ่นอธิปไตยของตน และเชื่อว่ารัสเซียยังคงทะเยอทะยานที่จะฮุบดินแดนอายุนับพันปีของพวกเขา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมาเนื่องจากถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรต่างๆ เช่น ออสเตรีย โปแลนด์ ลิทัวเนีย และรัสเซีย

ล่าสุด เปสคอฟ ซึ่งเป็นโฆษกของ ปูติน ก็ได้ใช้คำนี้อีกครั้งเมื่อวันอาทิตย์ (31 ส.ค.) และก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน เว็บไซต์ของทำเนียบเครมลินก็ได้เผยแพร่สารถึงผู้นำฝ่ายกบฏยูเครนที่ระบุว่า “ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ขอเรียกร้องไปยังกลุ่มติดอาวุธแห่งโนโวรอสสิยา”

สำนวนภาษาของมอสโกดูเหมือนจะจงใจแกล้งกดดันยูเครน และทำให้เคียฟกับพันธมิตรตะวันตกได้แต่คาดเดาว่า รัสเซียมีเป้าหมายสูงสุดอย่างไรกันแน่
กบฏแบ่งแยกดินแดนโปรรัสเซียนั่งอยู่บนรถถังคันหนึ่งที่เมืองสตาโรเบเชฟ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของโดเนตสก์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม
รัสเซียยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่เคยส่งทหารแทรกแซงสถานการณ์ในยูเครนตะวันออก แม้จะถูกสหรัฐฯและยุโรปกล่าวหาไม่เลิก รวมถึงงัดหลักฐานต่างๆ มายืนยันทั้งภาพถ่ายดาวเทียม คำบอกเล่าจากพยานผู้เห็นเหตุการณ์ รวมถึงทหารรัสเซียที่ถูกจับได้ในดินแดนของยูเครนก็ตาม

แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ กบฏแบ่งแยกดินแดนซึ่งก่อนหน้านี้ถูกกองทัพยูเครนรุกไล่จนเกือบจะพ่ายแพ้กลับพลิกสถานการณ์ตีโต้ขึ้นมาได้อีก โดยสามารถยึดเมืองทางใต้ไปจรดชายฝั่งทะเลอาซอฟ และได้ยิงถล่มเรือของกองทัพเรือยูเครนที่ลอยลำอยู่นอกชายฝั่งเมื่อวันอาทิตย์ (31 ส.ค.) ที่ผ่านมาด้วย

เมื่อวันจันทร์ (1 ก.ย.) ปูติน ได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “เพาเวอร์ ออฟ ไซบีเรีย” ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติความยาว 4,000 กิโลเมตรในเขตไซบีเรีย เพื่อรองรับการจัดส่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลจากรัสเซียไปยังจีนตลอด 30 ปีข้างหน้า แหล่งข่าวทางการทูตในกรุงมอสโกเปิดเผยว่าโครงการความร่วมมือระหว่างรัสเซียและจีนในครั้งนี้มีมูลค่ารวมของโครงการสูงกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 159,875 ล้านบาท) และจะสามารถรองรับการส่งออกก๊าซธรรมชาติจากแดนหมีขาวไปยังแดนมังกรได้ถึงปีละ 38,000 ล้านลูกบาศก์เมตรได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 เป็นต้นไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือสัญญาณเตือนที่โลกตะวันตกจะต้องไม่หลงลืมว่ามอสโกมี “ทางเลือก” ที่จะผูกมิตรกับมหาอำนาจอย่างจีนได้ หากสหรัฐฯและตะวันตกใช้มาตรการบีบคั้นทางเศรษฐกิจมากกว่านี้

สถานการณ์หลังจากนี้เป็นที่น่าจับตาว่า ปูติน อาจถือโอกาสที่กบฏแบ่งแยกดินแดนเริ่มเข้มแข็งขึ้นชะลอการสนับสนุนลงบ้าง เพื่อไม่ให้รัสเซียต้องถูกสหรัฐฯและพันธมิตรคว่ำบาตรหนักขึ้น และยังจะเป็นการเลี่ยงเผชิญหน้ากับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่มีข่าวว่ากำลังเตรียมจัดตั้ง “กองกำลังเคลื่อนที่เร็ว” ประมาณ 4,000 นายซึ่งพร้อมประจำการในยุโรปตะวันออกเพื่อรับมือการขยายอิทธิพลของรัสเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น