xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.เวิลด์แบงก์ชี้คนตายเพราะ "อีโบลา" มากเกินเหตุเพราะโลกยังตอบสนองวิกฤต "ไม่เพียงพอ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)
รอยเตอร์ – จิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวเตือนวานนี้(1)ว่า การที่ทั่วโลกยังขาดมาตรการตอบสนองวิกฤตที่ “เพียงพอ” เป็นเหตุให้มีผู้คนล้มตายเพราะเชื้อไวรัสอีโบลามากเกินควร

ในบทบรรณาธิการซึ่งเผยแพร่ลงหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ ประธาน จิม ยอง คิม ชี้ว่า บริการด้านสาธารณสุขในประเทศตะวันตกมีศักยภาพเพียงพอที่จะควบคุมโรคนี้ได้ และประเทศร่ำรวยทั้งหลายควรจะแบ่งปันความรู้และทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือประเทศในแอฟริการับมือกับโรคระบาดร้ายแรงนี้

“สถานการณ์ขั้นวิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่ไม่ได้เกิดจากไวรัสเป็นส่วนใหญ่ แต่เกิดจากอคติและความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้การตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคยังไม่เพียงพอ” คิม กล่าว

“คนจำนวนมากต้องล้มตายไปโดยไม่จำเป็น”

บทบรรณาธิการชิ้นนี้ร่วมเรียบเรียงโดย พอล ฟาร์เมอร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งได้ร่วมมือกับ คิม ก่อตั้งมูลนิธิ พาร์ทเนอร์ส อิน เฮลธ์ เพื่อสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขในประเทศยากจน

เมื่อวานนี้(1) ชายชาวไลบีเรียคนหนึ่งได้หลบหนีออกจากศูนย์กักกันผู้ติดเชื้ออีโบลาในกรุงมันโรเวีย และเข้าไปหาอาหารกินในตลาดจนผู้คนพากันวิ่งแตกตื่น ซึ่งผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ที่พบเห็นเหตุการณ์นี้ชี้ว่า นี่อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนอันตรายอันเกิดจากบริการสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอ

ผู้ป่วยชายซึ่งถูกติดแท็กที่ระบุว่าผลตรวจเชื้ออีโบลาของเขาเป็น “บวก” ถือไม้และขว้างปาก้อนหินใส่แพทย์ที่อยู่ในศูนย์กักกันในย่านเพย์เนสวิลล์ โดยแพทย์คนนั้นได้แต่ยืนอยู่ห่างๆ และพยายามพูดโน้มน้าวให้เขายอมกลับเข้าไปอยู่ในศูนย์แต่โดยดี

ต่อมาผู้ป่วยรายนี้ล้มลงกับพื้นเพราะสภาพร่างกายอ่อนแอมาก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งสวมชุดป้องกันจึงฉวยโอกาสเข้าไปพาตัวเขาขึ้นรถพยาบาล และนำกลับไปยังศูนย์กักกันตามเดิม

“เราพยายามบอกรัฐบาลไลบีเรียแต่แรกแล้วว่า อย่าเปิดศูนย์กักกันผู้ป่วยอีโบลาที่นี่ เขาเป็นรายที่ 5 แล้วที่วิ่งหนีออกมาอาเจียนข้างนอก” ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งกล่าว

พยานอีกคนชี้ว่า ผู้ป่วยอีโบลาในศูนย์แห่งนี้ไม่มีอาหารรับประทานอย่างเพียงพอ

ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้แล้วกว่า 1,500 คนในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งนับเป็นการระบาดที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ไวรัสชนิดนี้ถูกพบเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1976 ใกล้ๆ กับแม่น้ำอีโบลา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

บริการสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอยิ่งทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น เช่นกรณีของไลบีเรียซึ่งมีแพทย์เพียง 50 คนในช่วงก่อนที่อีโบลาจะระบาด และเจ้าหน้าที่แพทย์หลายคนก็ต้องเสียชีวิตไปเพราะติดเชื้อจากผู้ป่วย

สายการบินต่างชาติหลายแห่งได้ยกเลิกเที่ยวบินไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนที่นั่นขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น นอกจากนี้ รัฐข้างเคียงส่วนใหญ่ก็ประกาศปิดพรมแดน เพื่อป้องกันมิให้โรคลุกลามเข้าไปยังประเทศของตน ขณะที่องค์กรระหว่างประเทศก็พากันอพยพเจ้าหน้าที่ต่างชาติ

องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเตือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเชื้ออีโบลาอาจสูงกว่าที่รายงานถึง 4 เท่า และสุดท้ายอาจจะมีผู้ติดเชื้อมากถึง 20,000 คนก่อนที่การแพร่ระบาดจะยุติ

คิม และ ฟาร์เมอร์ ชี้ว่า หากองค์กรระหว่างประเทศและชาติที่ร่ำรวยร่วมมือกับบรรดาชาติในแอฟริกาตะวันตกโดยใช้แผนที่ WHO วางไว้ อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้ออีโบลาจะลดลงจากร้อยละ 50 ในปัจจุบัน ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 20
กำลังโหลดความคิดเห็น