เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-รัฐบาลสหรัฐฯประกาศมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราใหม่ที่สูงลิ่ว สำหรับชาวอเมริกันที่ต้องการขอ “สละสัญชาติ” หลังพบข้อมูลว่า จำนวนมะกันชนที่ตัดสินใจ “หันหลังให้กับแผ่นดินเกิด” ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
รายงานข่าวล่าสุดจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันอาทิตย์ (31 ส.ค.) ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เตรียมเสนอให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการขอสละสัญชาติในอัตราที่สูงขึ้นถึง “422 เปอร์เซ็นต์”
การประกาศจัดเก็บค่าธรรมเนียมสุดโหดดังกล่าวของทางการสหรัฐฯ ต่อพลเมืองของตนที่ต้องการขอสละสัญชาติอเมริกันส่งผลให้นับจากนี้ ผู้มีความประสงค์ขอสละสัญชาติจะต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงถึงราว 2,350 ดอลลาร์ หรือราว 75,100บาทต่อคำร้อง จากแต่เดิมที่ต้องเสียเพียง 450 ดอลลาร์หรือราว 14,380 บาท
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯมีขึ้นหลังมีการเปิดเผยรายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯที่พบข้อมูลว่า ในปี 2013 ที่ผ่านมา จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นเรื่องขอสละการถือสัญชาติอเมริกัน ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 2,999 ราย หรือเพิ่มขึ้นกว่า “ 221 เปอร์เซ็นต์” จากปีก่อนหน้า
ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2014 นี้ พบว่ามีชาวอเมริกันยื่นเรื่องขอ “สละสัญชาติ” ไปแล้วสูงถึง 1,577 ราย และในจำนวนนี้มี 576 รายที่ยื่นขอสละสัญชาติในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี
ก่อนหน้านี้ เคยมีความพยายามของนักการเมืองในสภาคองเกรสส์ ที่นำโดย ชัค ชูเมอร์ สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯจากมลรัฐนิวยอร์ก สังกัดพรรคเดโมแครต ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีสำคัญ ในการผลักดันร่างกฎหมายเรียกเก็บภาษี “exit tax” ในอัตราที่สูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์แก่ผู้ขอสละสัญชาติ
นักวิเคราะห์ระบุว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวอเมริกันยื่นเรื่องขอสละสัญชาติของตัวเองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ เหตุผลด้านภาษี จากการที่สหรัฐฯ มีอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้ทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดาและบรรดาผู้ประกอบธุรกิจในอัตราที่สูงกว่าหลายประเทศทั่วโลก กล่าวคือ อัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้ในสหรัฐฯ มีอัตราสูงสุดถึง 39.6 เปอร์เซ็นต์ และนั่นทำให้ชาวอเมริกันโดยเฉพาะในกลุ่มที่ “มีฐานะ” จำนวนมากไม่ต้องการถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงดังกล่าว และคนกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่มีธุรกิจในต่างแดน มักเลือกที่จะสละสัญชาติอเมริกันและไปถือสัญชาติของประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราการจัดเก็บภาษีรายได้ที่ต่ำกว่า หรือให้สิทธิพิเศษต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า
ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกายังถือเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการเรียกเก็บภาษีต่อพลเมืองของตน ที่ "มิได้มีถิ่นพำนัก" ในสหรัฐฯ ในอัตราและเงื่อนไขเดียวกับพลเมืองอเมริกันที่อาศัยอยู่ภายในประเทศ