เอเอฟพี - รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมลงนามข้อตกลงนำเข้าแร่หายากราว 2,000 ตันจากอินเดียในสัปดาห์หน้า ตามยุทธศาสตร์แสวงหาแหล่งแร่อื่นๆ นอกเหนือจากจีน รายงานระบุในวันนี้ (28 ส.ค.)
หนังสือพิมพ์นิกเกอิรายงานว่า นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น และนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียอาจมีการลงนามข้อตกลงดังกล่าวในการประชุมสุดยอดของพวกเขาในกรุงโตเกียว ในวันจันทร์หน้า (1 ก.ย.)
แร่หายากราว 2,000-3,000 ตัน ซึ่งนับเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของแร่ที่โรงงานต่างๆ ในแดนอาทิตย์อุทัยต้องใช้แต่ละปีจะถูกจัดส่งจากอินเดียไปยังญี่ปุ่น โดยการนำเข้าดังกล่าวจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเร็วที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์
จีนถือเป็นผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่ โดยมีกำลังการผลิตคิดเป็นร้อยละ 95 ของโลก ซึ่งแร่หายากเหล่านี้ประกอบด้วยแร่ 18 ชนิดที่ใช้สำหรับ สมาร์ทโฟน, แบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริด, กังหันลม, เหล็ก และหลอดไฟประหยัดพลังงาน ฯลฯ
ประเทศแห่งนี้ยังมีปริมาณแร่หายากสำรองคิดเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ของทั่วโลก และในเดือนนี้ก็เพิ่งถูกองค์การการค้าโลกตัดสิน (WTO) ไม่รับอุทธรณ์เรื่องที่ว่าจีนละเมิดกฎการค้าโลกด้วยการจำกัดการส่งออก
ปักกิ่งชี้แจงว่า การจำกัดนี้มีเป้าประสงค์เพื่อการสงวนทรัพยากรธรรมชาติ และลดมลภาวะที่เกิดจากการทำเหมือนแร่
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ชี้ว่าการจำกัดนี้เป็นความพยายามเพื่อดันราคาให้สูงขึ้น และเพิ่มข้อได้เปรียบทางการตลาดให้กับผู้ผลิตภายในประเทศจากการเข้าถึงวัตถุดิบต่างๆ ได้ถูกลง
ญี่ปุ่นยังได้กล่าวหาจีนว่าจำกัดการส่งออกเพื่อทำแต้มทางการเมือง
เมื่อปี 2010 ปักกิ่งสั่งจำกัดการส่งออกแร่หายาก หลังจากที่ญี่ปุ่นจับกุมกัปตันเรือลากอวนรายหนึ่งที่เกี่ยวข้องในเหตุทะเลาะเบาะแว้งกับหน่วยยามฝั่งของญี่ปุ่นใกล้เกาะพิพาทเซ็งกากุที่จีนก็อ้างสิทธิ์ในชื่อเกาะเตี้ยวอี๋ว์
นิกเกอิรายงานว่า ภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้บริษัท อินเดียน แรร์เอิร์ธ (IREL) ซึ่งกรมพลังงานนิวเคลียร์ของอินเดียเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ และโตโยต้า ทูโช ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้า-ส่งออกของแดนอาทิตย์อุทัยจะลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการผลิตร่วมอย่างเร็วที่สุดเดือนในกันยายน
IREL จะผลิตแร่หายากแบบผสมจากยูเรเนียมและสินแร่ทอเรียม ซึ่งโตโยต้าจะนำไปผลิตเป็นนีโอดิเมียมสำหรับรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนแลนทานัม, ซีเรียม และเพรซีโอดิเมียม
โฆษกของโตโยต้า ทูโช ยืนยันว่าข้อตกลงดังกล่าวจะมีขึ้นเร็วๆ นี้ โดยเผยว่า “ขณะนี้เราอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย และใกล้จะบรรลุข้อตกลงแล้ว”
“การเจรจาต่างๆ ถูกเร่งให้เร็วขึ้นนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารในอินเดีย” เขากล่าวเสริม โดยอ้างถึงการคว้าชัยในการเลือกตั้งของโมดี เมื่อเดือนพฤษภาคม
ญี่ปุ่น ซึ่งพึ่งพาการนำเข้าแร่หายากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จากแดนมังกร ได้มีข้อตกลงเพื่อการพัฒนาแหล่งทรัพยากรร่วมกับกับเวียดนามและคาซัคสถานแล้ว
โมดีมีกำหนดเยือนญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม - 3 กันยายน ซึ่งนับเป็นการเดินทางนอกเอเชียใต้เป็นครั้งแรกของเขานับตั้งแต่ก้าวขึ้นสู่อำนาจ