xs
xsm
sm
md
lg

“ซีเรีย” แบะท่า พร้อมร่วมมือทั่วโลกรวมทั้ง “สหรัฐฯ” ต่อต้านนักรบญิฮัด “ไอเอส”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มนักรบญิฮัด “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) กำลังรณรงค์ “ล้างเผ่าพันธุ์และนิกายศาสนา” ในอิรัก
เอเจนซีส์ - สหประชาชาติออกมากล่าวหาในวันจันทร์ (25 ส.ค.) ว่า กลุ่มนักรบญิฮัด “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) กำลังรณรงค์ “ล้างเผ่าพันธุ์และนิกายศาสนา” ในอิรัก ขณะเดียวกับที่รัฐบาลซีเรียแถลงว่า พร้อมแล้วที่จะร่วมมือกับประชาคมนานาชาติ แม้กระทั่งสหรัฐฯ เพื่อต่อต้าน “ผู้ก่อการร้าย” กลุ่มนี้

การกล่าวหากลุ่มไอเอส ของ นาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติคราวนี้ ยังบังเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่กองกำลังอาวุธ “เปชเมอร์กา” ของชาวเคิร์ด สามารถกดดันกลุ่มนักรบญิฮัดกลุ่มนี้ให้ถอยออกจากพื้นที่บางแห่งทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงแบกแดด หนึ่งวันหลังจากที่ไอเอสประสบความสำเร็จในการเข้ายึดครองสนามบินทางทหารแห่งสำคัญแห่งหนึ่งในซีเรีย

พิลเลย์ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งว่า ในดินแดนของอิรักซึ่งพวกเขายึดเอาไว้เวลานี้ กลุ่มไอเอสกำลังดำเนินการปกครองแบบสยดสยองโหดเหี้ยม ต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่ชาวอาหรับ และต่อชาวมุสลิมที่ไม่ได้นับถือนิกายสุหนี่ โดยสิ่งที่นักรบญิฮัดเหล่านี้กระทำ มีทั้งการเข่นฆ่าสังหารแบบกำหนดเป้าหมายเอาไว้ล่วงหน้า, การบังคับให้เปลี่ยนความเชื่อทางศาสนา, การลักพาตัว, การค้ามนุษย์, ตลอดจนการทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาและทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม

“พวกเขากำลังพุ่งเป้าเล่นงานอย่างเป็นระบบต่อทั้งชาย, หญิง, และเด็กๆ โดยอิงอยู่กับเชื้อชาติ, ศาสนา หรือความเชื่อทางลัทธินิกายของคนเหล่านี้ และกำลังดำเนินการล้างเผ่าพันธุ์และล้างนิกายศาสนาอย่างกว้างขวาง ในพื้นที่ต่างๆ ที่ตกอยู่ใต้การควบคุมของพวกเขา” พิลเลย์บอก

“การรังแก่เข่นฆ่าดังกล่าวนี้ เท่ากับเป็นการประกอบอาชญกรรมต่อมนุษยชาติ” เธอกล่าว ขณะที่ “คณะกรรมการสหประชาชาติเพื่อการกำจัดการแบ่งแยกทางเชื้อชาติให้หมดสิ้นไป” ออกมาเรียกร้องให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จัดการประชุมวาระฉุกเฉินเพื่อพิจารณาวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในอิรักนี้

คณะกรรมการยูเอ็นเพื่อการกำจัดการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ ยังแถลงว่า ถึงเวลาแล้วที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะจัดส่ง “กองกำลังรักษาสันติภาพ” เข้าไปสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” รอบๆ จังหวัดนิเนเวห์ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของอิรัก และถูกกลุ่มไอเอสยึดครองอยู่

อิรักนั้นกำลังพยายามดิ้นรนเพื่อช่วงชิงพื้นที่หลายๆ ส่วนของประเทศกลับคืนมา ภายหลังที่กลุ่มไอเอส ประสบความสำเร็จในการนำพากองกำลังอาวุธของกลุ่มตนและเหล่าพันธมิตร เปิดฉากการรุกโจมตีแบบสายฟ้าแลบ จนสามารถยึดครองเมืองโมซุล ที่เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของอิรัก เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากนั้นก็ตีกวาดพื้นที่ของชาวสุหนี่ทางตอนเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไปได้เป็นอาณาบริเวณกว้างขวาง ขณะที่กองทัพอิรักและกองกำลังความมั่นคงอื่นๆ พากันแตกพ่ายถอยร่น

กองกำลังนักรบญิฮัดของกลุ่มไอเอสยังสามารถเข้ายึดพื้นที่จำนวนมากในซีเรีย ส่วนที่อยู่ติดกับบริเวณซึ่งกลุ่มนี้ควบคุมอยู่ในอิรัก และจัดแจงประกาศจัดตั้ง “คอลิฟะะห์” (รัฐกาหลิบ) ขึ้นตรงดินแดนระหว่างสองประเทศนี้

ซีเรีย ซึ่งตกอยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่รัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ต่อสู้กับกลุ่มกบฎหลายๆ กลุ่ม หนึ่งในนั้นก็คือพวกไอเอส นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2011 เป็นต้นมา ได้แถลงเป็นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ (25) ว่า พร้อมที่จะทำงานกับประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ เพื่อต่อสู้กับ “การก่อการร้าย”

วาลิด มูอัลเลม รัฐมนตรีต่างประเทศซีเรียแถลงว่า ทางการดามัสกัสพร้อมร่วมมือกับประชาคมโลก รวมถึงอเมริกาและอังกฤษ ทั้งในระดับภูมิภาค สากล และทวิภาคี เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย ภายในกรอบโครงของมติที่ 2170 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยกลุ่มหัวรุนแรง แต่ทั้งนี้มีข้อแม้ว่า ความร่วมมือดังกล่าวต้องมีความจริงจัง ไม่มีสองมาตรฐาน รวมทั้งไม่ละเมิดอธิปไตยของซีเรีย

คำแถลงคราวนี้ยังมีขึ้นขณะที่นักรบกลุ่มไอเอส ซึ่งครอบครองพื้นที่มากมายในซีเรียเอาไว้แล้ว ได้บุกยึดสนามบินทหาร “แท็บกา” ซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้ายของรัฐบาลซีเรียในจังหวัดรากา โดยที่จังหวัดนี้ยังถือเป็นศูนย์กลางของ “รัฐอิสลาม” ของไอเอส ที่ครอบคลุมพื้นที่ของอิรักและซีเรีย เป็นบริเวณกว้างใหญ่พอๆ กับประเทศอังกฤษเวลานี้

มติดังกล่าวของคณะมนตรีความมั่นคง ที่ได้รับฉันทามติแบบที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักเมื่อวันที่ 15 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อทำลายนักรบญิฮัดในซีเรียและอิรัก ด้วยการตัดเส้นทางเงินทุนและสกัดไม่ให้นักรบต่างชาติเดินทางเข้าไปสมทบ

มตินี้พุ่งเป้าเล่นงานทั้งกลุ่มไอเอส และกลุ่มแนวร่วมอัล-นูซรา ฟรอนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของอัล-กออิดะห์ในซีเรีย โดยที่เมื่อวันอาทิตย์(24) อัล-นูซรา ได้ยอมปล่อยตัว ปีเตอร์ ธีโอ เคอร์ติส นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันวัย 45 ปี ที่ถูกพวกเขาจับกุมเอาไว้นานถึง 22 เดือน

ยูเอ็นเผยว่า มีการส่งมอบตัวเคอร์ติสให้แก่กองกำลังรักษาสันติภาพยูเอ็นในที่ราบสูงโกลัน และจากนั้นยูเอ็นจึงส่งต่อให้ตัวแทนของสหรัฐฯ หลังจากตรวจร่างกายเคอร์ติสแล้ว

ข่าวการปล่อยตัวเคอร์ติสมีขึ้นไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจากไอเอสเผยแพร่คลิปตัดคอเจมส์ โฟลีย์ ผู้สื่อข่าวอเมริกัน เพื่อแก้แค้นที่วอชิงตันส่งเครื่องบินรบถล่มที่มั่นของตนในอิรัก

ด้านครอบครัวของเคอร์ติสได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯ และกาตาร์ ตลอดจนถึงบุคคลและองค์กรต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการเจรจาจนกระทั่งเคอร์ติสได้รับอิสรภาพ

ทั้งนี้ แม้ไอเอสและอัล-นูซรา ต่างมีรากเง่ามาจากเครือข่ายอัล-กออิดะห์ในอิรัก แต่ทั้งสองกลุ่มได้หันมาเป็นปรปักษ์กันและมีการต่อสู้กันอย่างเปิดเผยในซีเรียนับแต่ต้นปีนี้

ในส่วนสถานการณ์ที่อิรัก กองกำลังเปชเมอร์กาของเคิร์ดที่ได้รับการสนับสนุนจากการโจมตีทางอากาศของอิรัก สามารถผลักดันไอเอสให้ถอยออกจากหมู่บ้าน 3 แห่งในย่านจาลาว์ลา ในจังหวัดดิยาลาทางตะวันออกเฉียงเหนือของแบกแดดได้สำเร็จเมื่อวันจันทร์

กองกำลังเคิร์ดยังยึดถนนสายหลักที่ไอเอสใช้ลำเลียงนักรบและเสบียง

นับจากวันที่ 8 เดือนนี้ วอชิงตันไฟเขียวให้กองทัพอากาศเข้าโจมตีที่มั่นและยานพาหนะของไอเอสในอิรัก ปฏิบัติการนี้ยิ่งเข้มข้นขึ้นหลังไอเอสแพร่คลิปตัดคอโฟลีย์ และแดนอินทรียังส่งสัญญาณว่า ปฏิบัติการกวาดล้างนักรบหัวรุนแรงกลุ่มนี้ในซีเรีย ก็อาจมีความจำเป็นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นหลัง พลเอกมาร์ติน เดมป์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมของกองทัพสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า จะแนะนำให้กองทัพเข้าต่อสู้กับไอเอสในซีเรียโดยตรงต่อเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า นักรบหัวรุนแรงกลุ่มนี้เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่ออเมริกาหรือยุโรป

แต่สำหรับขณะนี้ เดมป์ซีย์เชื่อว่า ไอเอสยังเป็นเพียงภัยคุกคามในตะวันออกกลาง และไม่ได้กำลังวางแผนโจมตีอเมริกาหรือยุโรปเหมือนกลุ่มอัลกออิดะห์ในคาบสมุทรอาหรับ ที่มีฐานในเยเมนแต่อย่างใด

ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ ยังเชื่อมั่นว่า พันธมิตรสำคัญในตะวันออกกลาง อาทิ จอร์แดน ตุรกี และซาอุดีอาระเบีย จะร่วมกับอเมริกาต่อสู้กลุ่มไอเอส
กำลังโหลดความคิดเห็น