เอเอฟพี - รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ วานนี้ (20 ส.ค.) เดินทางไปเข้าพบพ่อแม่ของ ไมเคิล บราวน์ วัยรุ่นผิวสีที่ถูกตำรวจผิวขาวฆ่าตาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จุดชนวนให้เกิดจลาจลขึ้นในเมืองแห่งหนึ่ง ของสหรัฐฯ มานานเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว
อีริก โฮลเดอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯได้ให้สัญญากับครอบครัวของบราวน์ ในระหว่างการพูดคุยเป็นการส่วนตัว 20 นาทีว่า จะสืบสวนสาเหตุการตายของวัยรุ่นชายวัย 18 ปี ที่เมืองเฟอร์กูสัน มลรัฐมิสซูรี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมาอย่าง “ยุติธรรมและเป็นกลาง”
ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะมีโอกาสได้พบหน้ากัน แม่ของ บราวน์ ได้เดินทางไปดูศพลูกชายที่ห้องดับจิตในเมืองเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ลูกของเธอเสียชีวิตจากการถูกยิง 6 นัด
คณะลูกขุนชุดใหญ่จะเริ่มนัดสืบพยานเพื่อสืบสวนคดีฆาตกรรมบราวน์ ในเวลาที่มีการเรียกร้องอย่างกว้างขวางให้นำตัวตำรวจที่ยิงผู้ตายมาสอบสวน
เจ้าหน้าที่ผู้รับมีอำนาจผิดชอบในท้องที่ ครอบครัวของบราวน์ และกระทรวงยุติธรรม ได้ตรวจสอบสภาพศพของบราวน์มาแล้ว 3 ครั้ง
โฮลเดอร์ ซึ่งเดินทางไปพบผู้ว่าการรัฐ สมาชิกวุฒิสภา 2 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 คนของรัฐมิสซูรี บอกชาวเมืองเฟอร์กูสันว่า เขาได้มอบหน้าที่ให้ “ตัวแทนและอัยการที่มีประสบการณ์สูงสุดของกระทรวงยุติธรรม” สืบสวนการตายของบราวน์ ในเวลาที่ชาวเมืองเฟอร์กูสัน พากันสงสัยกันว่า ตำรวจกำลังพยายามปกป้องพวกพ้องของตัวเอง
โฮลเดอร์กล่าวว่า “เราใช้แนวทางการสืบสวนที่ต่างออกไป โดยเรากำลังตรวจสอบว่า มีการละเมิดรัฐบัญญัติสิทธิพลเมืองของสหรัฐฯ”
ทางฝ่ายตำรวจชี้ว่า ขณะเกิดเหตุ บราวน์ ได้พุ่งเข้าจู่โจมเจ้าหน้าที่ แต่ผู้เห็นเหตุการณ์คนอื่นๆ เล่าว่า วัยรุ่นชายซึ่งอีกไม่กี่วันจะเริ่มเข้าเรียนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาผู้นี้ ได้ยกมือขึ้นเหนือศีรษะ และพร้อมยอมจำนนต่อตำรวจโดยดี
โฮลเดอร์กล่าวว่า หวังว่าการเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวของบราวน์ “จะช่วยให้สถานการณ์ในพื้นที่คลายความตึงเครียด”
*** ตำรวจถูกสั่งพักงาน ***
เมื่อโฮลเดอร์ ได้พบบรรดานักศึกษาที่วิทยาลัยชุมชนในพื้นที่ซึง บราวน์ กำลังมีแผนจะเข้าศึกษาต่อ เขากล่าวว่า “ตอนนี้คนทั่วประเทศ และทั่วโลกกำลังจับตามองเมืองเฟอร์กูสัน ... เพราะประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการยิงบราวน์เสียชีวิต เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ยังคงระอุคุกรุ่นอยู่ภายใต้เปลือกนอกของอีกหลายชุมชน นอกเหนือจากที่เฟอร์กูสัน”
โมลีริก เวลช์ นักศึกษาหญิงวัย 27 ปีที่ได้พูดคุยกับ โฮลเดอร์ เล่าว่า พี่ชายวัย 31 ปีของเธอเสียชีวิตเพราะหัวใจหยุดเต้น หลังถุกเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองเฟอร์กูสันยิงด้วยปืนไฟฟ้า เมื่อปี 2011
เวลช์กล่าวว่า “เกิดเหตุการณ์มากมายขึ้นในเมืองนี้ “ พร้อมกับกล่าวเสริมว่า โฮลเดอร์ให้สัญญากับเธอว่า “สิ่งต่างๆ กำลังจะเปลี่ยนไป”
ขณะที่ โฮลเดอร์ ลงพื้นที่พบชาวบ้าน ตำรวจระบุว่า มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งถูกสั่งพักงาน ภายหลังหันปืนไรเฟิลจู่โจมกึ่งอัตโนมัติไปทางผู้ประท้วงที่ชุมนุมโดยสันติเมื่อค่ำวันอังคาร (19) หลังทั้งสอง “ตะโกนด่าทอกัน”
คลิปวีดีโอที่ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์ และออกอากาศทางโทรทัศน์ เผยภาพเจ้าหน้าที่คนหนึ่งใช้วาจาก้าวร้าว โดยกล่าวว่า “เดี๋ยว (คำหยาบ) ก็ได้ตายหรอก ถอยไป” และเมื่อผู้ประท้วงถามชื่อของเขา เขาก็ตะโกนตอบว่า “ไป (คำหยาบ) เหอะ...”
ในขณะนั้น “ตำรวจยศนายสิบคนหนึ่งจากเทศมณฑลเซนต์หลุยส์ก็ตรงเข้าไประงับเหตุ และสั่งให้เจ้าหน้าที่คนนี้ลดปืนลง และพาตัวเขาออกไป”
กองบัญชาการความมั่นคงเมืองเฟอร์กูสัน “รู้สึกว่า เขาแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ที่พยายามรักษาความสงบทุกวัน”
เจ้าหน้าที่ของเทศมณฑลระบุในคำแถลงว่า ตำรวจผู้ก่อเหตุ ซึ่งมาจากเขตชานเมืองเซนต์แอนน์ ที่อยู่ใกล้เคียง “ได้ถูกปลดจากหน้าที่ และถูกสั่งพักงานอย่างไม่มีกำหนด”
*** สถานการณ์ตึงเครียด เมื่อมีผู้ออกมาสนับสนุนตำรวจ ***
วานนี้ (20) ในช่วงตะวันตกดิน บาทหลวง นักบวชคริสต์ นักบวชยิว และอิหม่าม ได้นำขบวนผู้ชุมนุมกว่า 100 คนเคลื่อนตัวไปยังศาลเทศมณฑลเซนต์หลุยส์ ในเขตชานเมืองเคลย์ตัน ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานของ โรเบิร์ต แม็คคัลลอช อัยการเซนต์หลุยส์ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ บราวน์ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีคนผิวขาวเพิ่มขึ้น ได้เปล่งเสียงตะโกนสโลแกน
เฮทเธอร์ อาร์โควิทช์ บาทหลวงอาวุโส (ผิวขาว) จากโบสถ์ “เฟิร์สต์ คอนกรีเกชันนัล” แห่งเซนต์หลุยส์กล่าวกับกลุ่มผู้ชุมนุมผ่านโทรโข่งว่า “เราต้องการกระบวนการ (ยุติธรรม) ที่เหมาะสม เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาของชาวเฟอร์กูสันเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาของชาวอเมริกัน และคนอเมริกันทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการหาทางออก”
บนถนน เวสต์ฟลอริสแซนท์ ซึ่งเป็นจุดที่การประท้วงในตอนกลางคืนมักลุกลามบานปลายกลายเป็นเหตุรุนแรง อยู่บ่อยครั้ง มีประชาชนราว 50 คนเดินขบวนกลางสายฝน ขณะที่มีตำรวจปราบจลาจลคอยเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
เหล่าผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า สถานการณ์ตึงเครียดโหมปะทุขึ้นเป็นเวลาสั้นๆ เมื่อสองสามีภรรยาผิวชาววัยกลางคน ชูป้ายทำมือที่มีข้อความสนับสนุน ดาร์เรน วิลสัน ตำรวจที่ยิง บราวน์ เสียชีวิต ทำให้ตำรวจต้องรีบพาทั้งสอง ซึ่งกำลังถูกรุมโห่ออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม เมื่อค่ำของวันอังคาร (19) เหล่าผู้ประท้วงได้ระดมปาแก้ว ขวดน้ำพลาสติก และขวดบรรจุปัสสาวะในช่วงสุดท้ายของการชุมนุม ซึ่งเกือบจะเป็นการประท้วงอย่างสงบ
ร.ต.อ.รอน จอห์นสัน จากกองบังคับการตำรวจทางหลวงมิสซูรีกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมบางคน และยึดปืนได้ 3 กระบอก
อย่างไรก็ตาม จอห์นสัน ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้รักษาความมั่นคงในเฟอร์กูสัน เน้นย้ำว่า ผู้ประท้วงไม่ได้ยิงเจ้าหน้าที่ และตำรวจก็งดเว้นจากการใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์เมื่อคืนวันจันทร์ (18) และวันอาทิตย์ (17)
เขากล่าวชื่นชมบรรดาผู้นำชุมชน นักเคลื่อนไหว และนักบวชที่จัดการประท้วงอย่างสันติ และป้องกันไม่ให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงโดยฝีมือของผู้ “ปลุกปั่น”