เอเอฟพี - ยอดการก่อเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดจนกลายเป็นสถิติใหม่ในปี 2013 โดยมีเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ถูกสังหารไป 155 ราย ขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงในปีนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ตามข้อมูลตัวเลขที่ได้รับการเผยแพร่ในวันนี้ (19 ส.ค.)
รายงานขององค์กรที่ปรึกษา “ฮิวแมนิทาเรียน เอาท์คัมส์” ชี้ว่า อัฟกานิสถานครองตำแหน่งแชมป์ในการจัดอันดับประเทศที่เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมต้องเผชิญความเสี่ยงมหาศาล โดยเมื่อปี 2013 มีเจ้าหน้าที่ถูกปลิดชีพไปทั้งหมด 81 ราย
เมื่อปี 2013 มีเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั่วโลกถูกสังหารรวม 155 ราย ได้รับบาดเจ็บสาหัส 171 คน และถูกลักพาตัวอีก 134 คน โดยเหตุรุนแรงมากถึง 3 ใน 4 เกิดขึ้นใน 5 ประเทศ อันได้แก่ อัฟกานิสถาน, ซีเรีย, ซูดานใต้, ปากีสถาน และซูดาน
ในภาพรวม ตัวเลขเหล่านี้เพิ่มขึ้นจากยอดเจ้าหน้าที่ที่ผู้ตกเป็นเหยื่อในปี 2012 ถึง 66 เปอร์เซ็นต์
สถานการณ์การสู้รบในซีเรีย และซูดานใต้ที่ทวีความร้อนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถูกระบุว่าเป็นสถานที่ที่อันตรายที่สุดสำหรับเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ และฉุดให้ตัวเลขจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้น
ในเดือนนี้เพียงเดือนเดียว กลุ่มติดอาวุธที่เดินเพ่นพ่านในซูดานใต้ได้ก่อเหตุสังหารเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไป 6 คน โดยในจำนวนนี้มี 3 คนเสียชีวิตจากการซุ่มโจมตี นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) 11 คนก็ถูกปลิดชีพ ในเหตุโจมตีศูนย์พักพิงผู้อพยพของยูเอ็น ในฉนวนกาซา
เมื่อเดือนมกราคม เจ้าหน้าที่ 3 คนซึ่งเป็นคนในพื้นที่ และทำงานให้องค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของสาธารณรัฐเช็กที่มีชื่อว่า “พีเพิล อิน นีด” ได้จบชีวิตลงในเหตุโจมตีด้วยปืนครก ในเมืองอะเลปโป ทางตอนเหนือของซีเรีย
ตัวเลขเบื้องต้นในปีนี้ชี้ว่า สถานการณ์ความอันตรายยังอยู่ในระดับสูง โดยตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ถูกฆ่าไปแล้ว 79 คน ซึ่งสูงกว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในปี 2012 ตลอดทั้งปี
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีกำหนดจะหารือถึงประเด็นการโจมตีเจ้าหน้าที่บรรทุกข์ที่เพิ่มสูงขึ้น ในที่ประชุม “วันมนุษยธรรมโลก” วันนี้ (19) ซึ่งเป็นวันครบรอบการก่อเหตุโจมตีที่ทำการยูเอ็น ในกรุงแบกแดด ที่คร่าชีวิตเจ้าหน้าที่ไป 22 คน ในปี 2003
องค์กรภาคสังคมกำลังเผชิญกับแรงกดดันหนักขึ้นเรื่อยๆ ในการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สงคราม เพื่อช่วยเหลือพลเรือนที่ถูกภัยสู้รบไล่ต้อน และบ่อยครั้งถูกปิดล้อมอยู่ในสมรภูมิรบ
องค์การ ฮิวแมนิทาเรียน เอาท์คัมส์ ชี้ว่า กว่าครึ่งของเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2013 เกิดจากการซุ่มโจมตี หรือการโจมตีข้างถนน
รายงานขององค์กรนี้ระบุว่า ความก้าวหน้าของการบริหารจัดการความปลอดภัย ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม นั้นไม่สามารถแก้ปัญหาการตั้งเป้าโจมตีรูปแบบเดิมๆ ทั้งยังขาดแคลนการปรับปรุงวิธีรักษาความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ที่เดินทางข้ามแดน