xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรบรรเทาทุกข์เตือน “ซูดานใต้” เสี่ยงเจอภาวะอดอยาก “ภายในไม่กี่สัปดาห์นี้” หากไร้ทุนช่วยเหลือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – ซูดานใต้ซึ่งบอบช้ำจากภาวะสงครามเสี่ยงเผชิญภาวะอดอยากในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หากปราศจากการระดมทุนก่อนใหญ่เพื่อมอบความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ประชาชน องค์การบรรเทาทุกข์เตือนวันนี้ (3)

“ถ้าความขัดแย้งในซูดานใต้ยังดำเนินต่อไป และไม่มีการส่งความช่วยเหลือไปมากกว่านี้ ภายในเดือนสิงหาคมปีนี้ มีความเป็นไปได้ว่าบางท้องถิ่นของซูดานใต้อาจจะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร” คณะกรรมการภัยพิบัติฉุกเฉิน (ดีอีซี) ของอังกฤษ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรบรรเทาทุกข์ 13 แห่งกล่าวเตือน

ประชาชนหลายพันต้องจบชีวิตลงเนื่องจากความขัดแย้งในประเทศที่อายุน้อยที่สุดของโลกแห่งนี้ ขณะที่กว่า 1.5 ล้านคน ถูกบีบให้ลี้ภัยตั้งแต่สงครามปะทุขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นอกจากนั้นการเจรจาสันติภาพไร้ความคืบหน้า

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีเงินสดอยู่ราว 40 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือประเทศนี้ ซึ่งยังขาดแคลนอีกมากกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 33,000 ล้านบาท)

“ภาวะอดอยากเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริงในบางพื้นที่” ซาเลห์ ซาอีด ประธานดีอีซี กล่าว พร้อมเตือนว่า “ประชาชนหลายล้านกำลังเผชิญกับวิกฤตอาหารขั้นร้ายแรง”

ในคำนิยามของยูเอ็น “ความอดอยาก” หมายความว่า ร้อยละ 20 ของครัวเรือนกำลังเผชิญกับการขาดแคลนอาหารอย่างร้ายแรง รวมถึงเกิดภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลันในประชาชนมากกว่าร้อยละ 30 และทุกวันจะมีคนเสียชีวิต 2 คนต่อจำนวนคน 10,000 คน

ผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็น ระบุว่า ฝนในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณค่าเฉลี่ย หรือต่ำกว่าเล็กน้อย พร้อมเสริมด้วยว่า ความหิวโหยเป็นผลพวงมาจากการต่อสู้ ไม่ใช่สภาพอากาศที่รุนแรง

ซาอีด กล่าวเสริมว่า ดีอีซี ซึงประกอบด้วย หน่วยงานต่างๆ เช่น ออกซ์แฟม (Oxfam), เทียร์ฟันด์ (Tearfund) และ เซฟ เดอะ ชิลเดรน (Save the Children) มีเงินน้อยกว่าครึ่งของจำนวนเงินที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้วิกฤตอาหารที่กำลังบานปลายในซูดานใต้แปรเปลี่ยนเป็นภัยพิบัติ

การต่อสู้ระหว่างระหว่างกองทัพของประธานาธิบดี ซัลวา คีร์ และ กองกำลังที่ภักดีต่อ รีอัค มาชาร์ ผู้นำกบฏ ได้นำมาซึ่งการกระทำที่ป่าเถื่อนอย่างแพร่หลาย

เมื่อเดือนที่แล้ว คีร์ และ มาชาร์ ต่างให้คำมั่นในต่อข้อตกลงหยุดยิงครั้งที่ 3 และพร้อมเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลภายใน 60 วัน ถึงกระนั้นการต่อสู้ก็ยังคงไม่ยุติ

เมื่อวันจันทร์ (30) องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (เอ็มเอสเอฟ) ซึ่งสั่งสมชื่อเสียงจากการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่สงครามบางแห่งที่รุนแรงที่สุดทั่วโลก ได้กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้นับว่าเลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี แม้กระทั่งในช่วงสงครามที่ยาวนานถึง 2 ทศวรรษที่ปูทางให้ซูดานได้เอกราชใต้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว สถานการณ์ก็ยังไม่รุนแรงถึงขั้นนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น