เอเอฟพี - สำหรับชาวซูดานใต้ วันนี้ (9 ก.ค.) คือวันครบรอบ 3 ปีของการประกาศเอกราช ขณะที่ชาติน้องใหม่ในแผนที่โลกแห่งนี้ยังคงเผชิญกับสงครามกลางเมืองที่กำลังแผ่ขยายลุกลาม, ความแตกแยกจากการก่อเหตุทำร้ายคนต่างชาติพันธุ์ และความเสียงต่อสภาวะขาดแคลนอาหาร
ตามสองข้างทางของถนนสายต่างๆ ในเมืองหลวงเต็มไปด้วยป้ายที่มีข้อความว่า “ชาติเดียวกัน ประชาชนเป็นหนึ่งเดียวกัน” ขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีซัลวา คีร์ มีกำหนดจะจัดพิธีสวนสนามแสดงแสนยานุภาพ และกล่าวสุนทรพจน์ในวาระครบรอบ 3 ปีที่ซูดานใต้หยุดสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลซูดานผู้กดขี่
บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้วางกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ก่อนที่จะมีการจัดพิธีฉลอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกอันขื่นขมในประเทศที่มีอายุน้อยที่สุดของโลกแห่งนี่ ซึ่งเผชิญกับสงครามกลางเมืองอันร้อนระอุมานานเกือบ 7 เดือน
กีเดียน ชาวบ้านวัย 23 ปี ในกรุงจูบา ยอมรับว่า “เป็นวันครบรอบที่น่าเศร้า” พร้อมทั้งระบุว่าเมื่อเดือนกรกฎาคม 3 ปีที่แล้วขณะที่ผู้คนในชาตินี้ร่วมกันประโคมแตรและมียังมองโลกในแง่ดี เขาเคยวาดหวังว่าซูดานใต้ในวันนี้จะดีกว่าเมื่อก่อน
ซูดานใต้บอบช้ำจากสงครามมานับตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เมื่อกองกำลังรัฐบาลที่ภักดีต่อประธานาธิบดีซัลวา คีร์ ปะทะกับกองทหารที่มีจุดยืนสนับสนุนอดีตรองประธานาธิบดีรีก มาชาร์ ซึ่งหนีเข้าป่าไปก่อตั้งกองกำลังกบฏขนาดใหญ่
การสู้รบเปิดฉากขึ้นด้วยการแผ่ขยายลุกลามของเหตุโจมตีระหว่างสมาชิกเผ่า “นูเอร์” ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ของหัวหน้ากลุ่มกบฏ มาชาร์ และสมาชิกเผ่า “ดิงกา” ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ของประธานาธิบดีคีร์สังกัดอยู่ และประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
พลเรือนถูกสังหารหมู่และฝังในหลุมศพเดียวกัน คนไข้ถูกฆ่าตายคาโรงพยาบาลและโบสถ์ ตลอดจนเมืองทั้งเมืองถูกทำลายราบ ส่วนที่ตั้งสำคัญต่างๆ ในชนบทอย่างแหล่งผลิตน้ำมันก็ถูกเปลี่ยนมือไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง
การประมาณการอย่างรัดกุมที่สุดชี้ว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุสู้รบในซูดานใต้แล้ว 10,000 ราย แม้ว่าเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกล่าวว่า มีแนวโน้มว่าตัวเลขที่แท้จริงสูงกว่านี้อยู่มาก
พลเรือนเกือบ 100,000 คนต้องอพยพย้ายถิ่นไปหลบในค่ายพักซอมซ่อ ภายในสำนักงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ด้วยเกรงว่าพวกเขาจะถูกทำร้ายหากกลับไปที่บ้าน
*** เหล่าผู้นำกำลังป่วย ***
องค์การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม “ออกซ์แฟม” กล่าวว่า ซูดานใต้กำลังประสบวิกฤตการณ์อันเลวร้ายที่สุดในแอฟริกา โดยประชาชนเกือบ 4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด กำลังเผชิญความเสี่ยงอดอยากขั้นรุนแรง และจนถึงตอนนี้ มีประชากรที่กำลังขาดแคลนได้รับความช่วยเหลือเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
วินนี บียันยีมา ผู้อำนวยการบริหารของออกซ์แฟม อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า “โลกเอาแต่มองไปที่อื่น ขณะที่หายนะทางมนุษยธรรมครั้งเลวร้ายที่สุดในแอฟริกากำลังถลำลงสู่ความเลวร้าย อีกไม่นาน เราจะมองเห็นนรกรำไร และไม่สามารถป้องกันสภาวะอดอยาก หากความช่วยเหลือยังไปไม่ถึงมือประชาชนชาวซูดานใต้ที่กำลังใกล้จะอดตาย ล้มป่วย และตกเป็นเหยื่อความรุนแรง”
“หากเรายังไม่ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น เด็ก 50,000 คนอาจต้องจบชีวิตลงด้วยโรคขาดสารอาหาร ตั้งแต่วิกฤตในปัจจุบันเปิดฉากขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว การสู้รบกันก็บีบให้ประชาชน 1.5 ล้านคนต้องละทิ้งบ้านเรือน และตัวเลขนี้ยังจะเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ”
1 วันก่อนถึงวันครบรอบประกาศเอกราช ผู้แทนองค์การสหประชาชาติประจำซูดานใต้ ซึ่งบัดนี้เดินทางออกนอกซูดานใต้ ได้กล่าวโจมตีผู้นำประเทศนี้ด้วยวาจาเจ็บแสบ โดยเรียกพวกเขาว่า “อภิชนที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน” และเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อ “ภัยอดอยากจากน้ำมือมนุษย์” ที่กำลังคืบคลานเข้ามา
ฮิลเด จอห์นสัน จากคณะผู้แทนแห่งสหประชาชาติประจำซูดานใต้ (UNMISS) กล่าวว่า “คนเป็นร้อยเป็นพันต้องถูกค่าตาย” พร้อมทั้งประณามรัฐบาลและกบฏ และกล่าวเตือนว่า หนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วน้อยที่สุดในโลกแห่งนี้กำลัง “ก้าวถอยหลังไปหลายทศวรรษ”
เธอกล่าวว่า พวกผู้นำกำลังป่วยเป็นโรค “มะเร็งทุจริต” และทรัพยากรน้ำมันที่มีค่าหลายพันล้านดอลลาร์ของประเทศก็ไม่ใช่พรที่ซูดานใต้ได้รับ แต่เป็น “คำสาป”
การเจรจาสันติภาพในโรงแรมอันหรูหราที่ ณ กรุงแอดดิสอาบาบา ของเอธิโอเปียแทบไม่คืบหน้าไปไหน และเมือเดือนที่แล้ว พวกเขาก็ระงับการหารือไว้อย่างไม่มีกำหนด โดยทั้งสองฝ่ายยังคงปฏิเสธที่จะมาเข้าร่วมการเจรจากันอีกครั้ง
จอห์นสันกล่าวเสริมว่า “หากการเจรจายังล่าช้าออกไปอีก แล้วต่างฝ่ายยังโทษกันไปโทษกันมาเช่นี้ เราก็สามารถสรุปได้เพียงอย่างเดียวว่า เป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจเพียง ระหว่างฝ่ายที่อยากรักษาตำแหน่งไว้ หรือฝ่ายที่ต้องการตำแหน่งกลับคืนมา”