เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ได้ออกปากเตือนถึงการตัดสัมพันธ์กับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียจากเรื่องวิกฤตยูเครน แต่ระบุว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการกระทำของ ปูติน เองด้วย
แมร์เคิล บอกกับหนังสือพิมพ์ ซาเอชซิสเช ไซทุง ว่าเธอ “กำลังทำงานอย่างหนักมากเพื่อรักษาเส้นทางการติดต่อสื่อสารอย่างเปิดเผย” กับ ปูติน ถึงแม้ว่าเมื่อเดือนที่แล้วสหภาพยุโรปจะตัดสินใจยกระดับการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย เพื่อตอบโต้การกระทำของมอสโกในยูเครน ประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
“แต่ความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์นั้น ไม่อาจเกิดได้จากกระทำแค่ฝั่งเดียว” เธอกล่าวเสริม
“ดิฉันเรียกร้องหาความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์กับรัสเซียเสมอมา และจะยังคงทำเช่นนั้นต่อไปในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม แมร์เคิล กล่าวว่า เธอจะไม่มีทางยอมรับการผนวกแหลมไครเมียจากยูเครนที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้
เธอกล่าวว่า มีฉันทามติอันสำคัญ “ที่ว่าพวกเราชาวยุโรปจะเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐต่างๆของเรา ....และเราจะไม่เปลี่ยนแปลงเขตแดนเหล่านั้นเพียงฝ่ายเดียว”
“ถ้าหากการผนวกดินแดนลักษณะนี้ ซึ่งขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ได้รับการยอมรับโดยไม่มีใครคัดค้านแล้วล่ะก็ เมื่อนั้นทุกสิ่งทุกอย่างทำให้เราใช้ชีวิตอยู่มาได้โดยสงบสุขและเจริญรุ่งเรืองมาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษก็จะตกอยู่ในความเสี่ยง” เธอกล่าว และชี้ว่า “นั่นคือเหตุที่ทำไมเราถึงไม่ยอมรับการกระทำของรัสเซีย”
ทั้งนี้ แมร์เคิล ซึ่งพูดภาษารัสเซียได้อย่างฉะฉาน มักจะพูดคุยผ่านโทรศัพท์กับ ปูติน ที่เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นสายลับเคจีบี (KGB) ในเมืองเดรสเดนเมื่อช่วงสงครามเย็น และนับตั้งแต่ที่วิกฤตยูเครนปะทุขึ้น เธอก็เรียกร้องให้เขาเคารพอธิปไตยของยูเครนเรื่อยมา
เยอรมนี ซึ่งเมื่อปีที่แล้วมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัสเซียคิดเป็นมูลค่าเกือบ 9 หมื่นล้านยูโร (หรือราว 3.8 ล้านล้านบาท) ได้เฝ้าขัดขวางการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางต่อแดนหมีขาวมาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม การที่กบฏฝักใฝ่มอสโกในภาคตะวันออกของยูเครนถูกกล่าวหาว่าใช้ขีปนาวุธที่ผลิตในรัสเซียยิงเครื่องบิน มาเลเซีย แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH17 ตกเมื่อเดือนที่แล้วนั้น ได้ทำให้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจหมายเลขหนึ่งของอียูแห่งนี้ หันมาใช้มาตรการที่เด็ดขาดต่อรัสเซียมากยิ่งขึ้น