เอเอฟพี - ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย เมื่อวันพุธ (6 ส.ค.) สั่งห้ามหรือไม่ก็จำกัดการนำเข้า 1 ปี อาหารและสินค้าทางการเกษตรจากชาติต่างๆที่กำหนดมาตรการคว่ำบาตรมอสโกเกี่ยวกับจุดยืนต่อยูเครน ส่วนหนึ่งในแผนตอบโต้เอาคืนของเครมลิน
เครมลินระบุในถ้อยแถลงว่า กฤษฎีกาที่ออกโดยนายปูติน “ทั้งสั่งห้ามและจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร วัตถุดิบและอาหารที่มาจากประเทศต่างๆ ซึ่งตัดสินใจใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อบุคคลและองค์กรต่างๆ ของรัสเซีย”
นาตาเลีย ทิมาโควา โฆษกรัฐบาลให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอาร์ไอเอ โนวอสตี ว่า ณ เวลานี้เหล่าคณะรัฐมนตรีกำลังร่างรายชื่อสินค้าต่างๆ ที่มีความตั้งใจว่าจะจำกัดการนำเข้าเพิ่มเติมในอนาคต ขณะที่อเล็กเซ ลิคาชยอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร บอกกับอินเตอร์แฟกซ์ว่าเขาได้ร่างรายชื่อต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว
จากข้อมูลพบว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัสเซียได้นำเข้าอาหารมาจากต่างแดนถึง 1 ใน 3 โดยผู้ส่งมอบบางส่วนเป็นเหล่าอดีตชาติสหภาพโซเวียตซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับมอสโก
รัสเซียได้ระงับการนำเข้าอาหารบางอย่างจากหลายชาติยุโรปอยู่ก่อนแล้ว และเคยขู่จำกัดปริมาณการซื้อผลิตภัณฑ์ไก่จากสหรัฐฯ แต่ก่อนหน้านี้พวกเขายืนยันว่ามาตรการเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่กำหนดโดยเหล่าชาติอียูและสหรัฐฯ ซึ่งพุ่งเป้าเล่นงานเหล่าบริษัทแห่งรัฐชั้นแนวหน้าและพวกเจ้าหน้าที่ที่มีความใกล้ชิดกับนายปูติน
มาตรการดังกล่าวได้ห้่ามเหล่าบริษัทต่างๆ ในยุโรปและสหรัฐฯ ติดต่อธุรกิจการค้าใดๆ ในอนาคตกับภาคพลังงานและอาวุธอันสำคัญของรัสเซีย ขณะที่เหล่าบริษัทแห่งรัฐชั้นนำ ก็จะถูกจำกัดการเข้าถึงตลาดหนี้ตะวันตกอย่างเข้มงวด พร้อมเสี่ยงถูกระงับการซื้อขายหุ้นทั้งในตลาดหลักทรัพย์ยุโรป และนิวยอร์ก
หนังสือพิมพ์แนวธุรกิจ เวโดมอสติของมอสโก รายงานเมื่อวันอังคาร (5) ว่ารัฐบาลรัสเซียกำลังพิจารณาว่าตะตอบโต้สหภาพยุโรป ด้วยการจะห้ามทุกเที่ยวบินของสายการบินยุโรปใช้น่านฟ้าเหนือไซบีเรียผ่านไปยังเอเชีย หรือจะแค่ห้ามเฉพาะบางส่วนเท่านั้น
พวกชาติตะวันตกคาดหมายว่ามาตรการคว่ำบาตรจะฉุดเศรษฐกิจที่เปราะบางของรัสเซียเข้าสู่ขอบเหวแห่งภาวะถดถอยในช่วงสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม มอสโกก็เตือนมาตรการคว่ำบาตรเหล่านั้นจะถีบให้ราคาพลังงานในสหภาพยุโรปพุ่งทะยานและจะกระทบกับเศรษฐกิจของกลุ่มอย่างสาหัสพอๆกับที่ทำกับพวกเขา พร้อมยืนยันจะมาตรการตอบโต้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ล้มเหลวที่จะโน้มน้าวให้ปูตินมีท่าทีผ่อนปรนลงในวิกฤตยูเครนหรือกดดันให้เขาเรียกร้องกลุ่มแบ่งแยกดินแดนนิยมรัสเซียที่กำลังสู้รบกับรัฐบาลเคียฟยอมวางอาวุธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นาโตเปิดเผยว่ารัสเซียได้เสริมกำลังทหารตามแนวชายแดนของยูเครน จาก 12,000 นายเป็น 20,000 นาย