รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - จีนดูเหมือนประสบความสำเร็จในการต้านทานแรงกดดันของสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะให้เหล่ารัฐสมาชิกสมาคมอาเซียน ออกมาแสดงท่าทีทักท้วงปฏิบัติการแข็งกร้าวของแดนมังกรในทะเลจีนใต้ เมื่อปรากฏว่าแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ออกมาในวันอาทิตย์ (10 ส.ค.) ไม่ได้มีเนื้อหาสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อข้อเสนอของวอชิงตัน ที่ให้ทุกๆ ฝ่ายระงับการกระทำแบบยั่วยุทั้งหลาย
จากการที่การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนซึ่งประกอบด้วยการเจรจาหารือต่างๆ จำนวนมาก จนกลายเป็นเวทีพบปะทางการทูตครั้งเกรียวกราวที่สุดประจำปีของเอเชีย ยังไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรอย่างชัดเจนในเรื่องวิธีแก้ไขความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เช่นนี้ นับเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าวอชิงตันยังมีงานหนักอึ้ง ในการผลักดันให้พวกชาติเอเชียรายย่อมๆ ทั้งหลาย กล้าเสี่ยงที่จะแสดงการคัดค้านทัดทานแดนมังกร ผู้เป็นมหาอำนาจที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมาของภูมิภาคนี้
แถลงการณ์ของที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน มีเนื้อหาแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับ “ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น” ในทะเลจีนใต้ และเรียกร้องให้ดำเนินการเจรจาที่เข้มข้นยิ่งขึ้นกับจีน และนี่ทำให้พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันพยายามชี้ว่า แสดงถึงความเพลี่ยงพล้ำของปักกิ่ง ซึ่งพยายามที่จะลดทอนไม่ให้มีการเอ่ยถึงกระแสข้อพิพาทนี้
ทว่า แถลงการณ์นี้ไม่ได้มีการเอ่ยพาดพิงถึงจีนโดยตรง อีกทั้งบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเพียงแค่ “จดบันทึก” รับทราบแผนการ 3 ขั้นที่ฟิลิปปินส์ พันธมิตรสนิทสนมของสหรัฐฯยื่นเสนอออกมาอย่างเป็นทางการ โดยแผนการนี้มีจุดสำคัญอยู่ที่การเรียกร้องให้ทุกๆ ฝ่ายระงับการปฏิบัติการต่างๆ ที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพในทะเลจีนใต้
“เราเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดกลั้นและหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่อาจทำให้สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้นและบ่อนทำลายสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในทะเลจีนใต้” แถลงการณ์ภายหลังการประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า ระบุ ทั้งนี้ แถลงการณ์นี้นำออกเผยแพร่อย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ (10) ทั้งๆ ที่ตัวการประชุมเองมีขึ้นตั้งแต่วันเสาร์ (9) โดยที่มีรายงานว่า ความล่าช้าเกิดจากหลายประเทศสมาชิกต้องการพิจารณาเลือกใช้ถ้อยคำในแถลงการณ์ฉบับนี้อย่างระมัดระวัง
หลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนแล้ว อาเซียนยังจัดการหารือกับพวกประเทศคู่เจรจาต่างๆ ตลอดจนจัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ขึ้นในวันอาทิตย์ (10) ซึ่งถือเป็นเวทีหารือประจำปีทางด้านความมั่นคงครั้งสำคัญ ซึ่งนอกจากชาติอาเซียนแล้ว ยังมีอีก 17 ประเทศเข้าร่วม ดังเช่น อเมริกา จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และกระทั่งเกาหลีเหนือ
เจ้าหน้าที่อาวุโสของอเมริกาบอกว่า จากการสนทนาเป็นการส่วนตัวทำให้ได้รับรู้ว่า ขณะนี้สมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กังวลต่อการดำเนินการทางทะเลของจีน “มากที่สุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน” ถึงแม้แถลงการณ์ที่เผยแพร่ออกมาค่อนข้างระมัดระวังที่จะไม่ทำให้ปักกิ่งโกรธเคืองก็ตาม
รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ ก็กล่าวว่า เขามีความพอใจแถลงการณ์ของอาเซียนฉบับนี้
“ผมคิดว่าถ้อยคำภาษา (ที่ปรากฏในแถลงการณ์ฉบับนี้) มีเนื้อหาครอบคลุมไปไกลเพียงพอแล้ว” เคร์รีกล่าวกับพวกผู้สื่อข่าวที่เนปิดอว์ในวันอาทิตย์ “ผมคิดว่าเราได้เสนอประเด็นที่เราต้องการที่จะมาเสนอแล้ว เราไม่ได้กำลังแสวงหาทางส่งผ่านอะไรอื่นๆ เรากำลังพยายามที่จะเสนอสิ่งต่างๆ กันบนโต๊ะอย่างเปิดเผย เพื่อให้คนอื่นๆ สามารถแสดงการยอมรับได้”
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ฉบับนี้มีการเรียกร้องให้อาเซียนและจีนดำเนินการเพื่อให้สามารถจัดทำ “แนวทางปฏิบัติ” (Code of Conduct) ในทะเลจีนใต้ ได้สำเร็จ ตามที่ได้เสนอกันเอาไว้ เพื่อใช้ลดความขัดแย้ง โดยที่แนวทางปฏิบัติดังกล่าวนี้ ควรจะมี “องค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม” เพื่อส่งเสริมความไว้ใจและความเชื่อมั่น
เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในคณะของเคร์รี กล่าวว่าถ้อยคำภาษาเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความเพลี่ยงพล้ำของฝ่ายจีน ที่พยายามถ่วงเวลาและเปลี่ยนประเด็น
ฝ่ายจีนนั้นยังมิได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมา ปักกิ่งปฏิเสธไม่ต้องการเข้าสหรัฐฯเข้ามายุ่งเกี่ยวพัวพันกับข้อพิพาทชิงกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ที่ตนมีอยู่กับหลายชาติอาเซียน รวมทั้งได้แสดงท่าทีปฏิเสธเรียกร้อยแล้ว ต่อข้อเสนอของฟิลิปปินส์ที่จะให้ระงับการปฏิบัติการต่างๆ ในทะเลจีนใต้ นอกจากนั้นจีนยังกล่าวหาสหรัฐฯด้วยว่า วอชิงตันกำลังพยายามยุยงชาติที่พิพาทอยู่กับปักกิ่ง เป็นต้นว่า ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ด้วยแผนยุทธศาสตร์หวนกลับมา “ปักหมุด” ทางทหารในเอเชีย