xs
xsm
sm
md
lg

รมต.ออสซีตั้งคำถามถึง “จริยธรรม” หลังสื่อตีข่าวผัวเมียแดนจิงโจ้จ้าง “แม่อุ้มบุญชาวไทย” แต่ทิ้งลูกไว้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - สกอตต์ มอร์ริสัน รัฐมนตรีกระทรวงคนเข้าเมืองออสเตรเลีย แถลงวันนี้ (3 ส.ค.) ว่า ควรมีการตั้งคำถามถึง “ความรับผิดชอบทางจริยธรรม” เพื่อกำหนดชะตากรรมของเด็กทารกซึ่งเกิดมาเป็นโรค “ดาวน์ซินโดรม” ภายหลังมีรายงานข่าวระบุว่าหนูน้อยผู้นี้ถูกคู่รักชาวออสเตรเลียทอดทิ้งให้อยู่กับแม่อุ้มบุญในไทย

มอร์ริสันออกมาแถลงเช่นนี้ในเวลาที่มูลนิธิการกุศลแห่งหนึ่งของออสเตรเลียตั้งกองทุนเพื่อระดมค่ารักษาพยาบาลให้ทารกน้อยคนนี้จนยอดเงินบริจาคทางออนไลน์พุ่งทะลุ 180,000 ดอลลาร์สหรัฐ (5.78 ล้านบาท) หลังจากคลื่นน้ำใจของผู้บริจาคกว่า 4,500 คนจากนานาประเทศ ที่ต้องการช่วยทารกน้อยให้พ้นทุกข์กระตุ้นหลั่งไหลมาถึง

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ภัทรมน จันทร์บัว หญิงสาวชาวไทยได้ให้กำเนิดหนูน้อย “แกมมี” ทารกเพศชายและน้องสาวฝาแฝด ภายหลังมีรายงานว่าเธอได้รับว่าจ้างให้เป็นแม่อุ้มบุญในราคา 16,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 4.79 แสนบาท)

สื่อรายงานว่า สองสามีภรรยานิรนามจากแดนจิงโจ้คู่นี้ได้นำน้องสาวฝาแฝดของแกมมี ที่สุขภาพแข็งแรงไป แต่ขณะที่ทิ้งแกมมีไว้ในไทย

นอกจากนี้ ทารกชายคนนี้ยังป่วยเป็นโรคอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตอย่างโรคหัวใจ และก่อนหน้านี้ภัทรมนวัย 21 ปีกล่าวว่า เธอไม่มีเงินมากพอที่จะออกค่ารักษาพยาบาลให้แกมมี

มอร์ริสันกล่าวกับเครือข่ายสถานีโทรทัศน์เอบีซีว่า “ผมคิดว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดใจจริงๆ”

“ผมคิดว่าในกรณีนี้เราควรตั้งคำถามว่าความรับผิดชอบทางจริยธรรมของบุคคลคืออะไรมากกว่า”

“ผมเห็นว่าก่อนหน้านี้แม่ของแกมมีต้องการให้เด็กอยู่ที่ไทย และแน่นอนว่าเราควรเคารพการตัดสินใจของคนเป็นแม่”


เมื่อค่ำวันเสาร์ (2) ภัทรมนกล่าวกับสำนักข่าวแฟร์แฟกซ์ว่า เธอต้องการเลี้ยงเด็กคนนี้ให้โตในไทย โดยระบุว่า “ฉันจะดูแลแกมมีเอง ฉันจะไม่ให้ลูกของฉันกับใครทั้งนั้น”

เธอกล่าวถึงคู่รักชาวออสเตรเลียที่ว่าจ้างเธอว่า “ดิฉันหวังว่าพวกเขาจะรักลูกของฉัน ... ฉันยกโทษให้พวกเขาทุกอย่าง การยกโทษเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ฉันทำได้ ... เป็นเรื่องดีที่สุดสำหรับทุกๆ คน”

“ดิฉันอยากเห็นลูกทุกคนกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง ส่วนเรื่องสองสามีภรรยาออสเตรเลีย ดิฉันไม่คิดอะไรมาก ดิฉันไปโทษพวกเขาไม่ได้ ดิฉันเลิกผิดหวังหรือโกรธพวกเขาแล้ว พวกเขาก็อาจมีปัญหาของพวกเขาเองเหมือนกัน”

มอร์ริสันกล่าวว่า กรณีการรับตั้งครรภ์แทนมี “ประเด็นปัญหาร้ายแรง” บางประเด็น ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการจัดการด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างสูง

เขากล่าวว่า “แต่เรื่องทั้งหมดนี้ผมคิดว่ามีอุปสรรคมากมาย และผมเข้าใจความรู้สึกของการรอคอย และความเจ็บปวดของคนเป็นพ่อแม่ในสถานการณ์เช่นนี้ แต่ก็มีบางอย่างที่เป็นประเด็นปัญหาร้ายแรงเช่นกัน ซึ่งเราจำเป็นต้องรับมือจัดการด้วยความระมัดระวังอย่างสูง”

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวแฟร์แฟกซ์รายงานว่า นายหน้าจัดหาแม่อุ้มบุญซึ่งช่วยประสานงานให้ภัทรมนกับสองสามีภรรยาชาวออสเตรเลียตกลงกันได้ บอกให้แม่ชาวไทยทำแท้งภายหลังที่แพทย์ตรวจพบว่าหนึ่งในคู่แฝดเป็นโรคดาวน์ซินโดรม

ภัทรมนเปิดเผยกับแฟร์แฟกซ์ว่า สาเหตุที่เธอไม่ยอมทำแท้งเพราะขัดกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้ การเป็นแม่อุ้มบุญเชิงพาณิชย์ที่หญิงจะได้รับเงินค่าอุ้มท้อง เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในออสเตรเลีย แต่คู่สามีภรรยาก็ยังสามารถขอความช่วยเหลือจากแม่อุ้มบุญที่สมัครใจ ที่ไม่ได้รับค่าจ้างอื่นใด นอกจากค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ

องค์กร “เซอร์โรเกซี ออสเตรเลีย” ซึ่งสนับสนุนและคอยประสานงานให้สามีภรรยาที่ต้องการหาผู้ตั้งครรภ์แทนระบุว่า มีคู่ครองที่มองหาแม่อุ้มบุญในต่างแดน แทนที่จะหาในประเทศบ้านเกิดของตัวเองเพิ่มขึ้น โดยแต่ละปีจะมีคู่รัก 400 ถึง 500 คู่เดินทางไปยังไทย อินเดีย สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เพื่อติดต่อทาบทามผู้หญิงให้ตั้งครรภ์แทน

กำลังโหลดความคิดเห็น