xs
xsm
sm
md
lg

ภาพถ่ายดาวเทียมชี้ “โสมแดง” อาจยิงทดสอบ “จรวดพิสัยไกลข้ามทวีป” เร็วๆ นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จรวดพิสัยไกลข้ามทวีป KN-08 ที่เกาหลีเหนือนำมาเผยโฉมเป็นครั้งแรกในพิธีสวนสนามทางทหารในกรุงเปียงยาง เมื่อเดือนเมษายน ปี 2012 (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - นักวิจัยในสหรัฐฯ อ้างภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกาหลีเหนืออาจกำลังทดสอบเครื่องยนต์ขับเคลื่อนขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปในขั้นสุดท้าย ซึ่งหมายความว่าการทดสอบยิงอย่างเต็มรูปแบบน่าจะติดตามมาในอีกไม่ช้า

การครอบครองขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) ถือเป็นจุดพลิกผันสำคัญซึ่งจะทำให้คำขู่โจมตีแผ่นดินสหรัฐฯที่เกาหลีเหนือป่าวประกาศอยู่เนืองๆ กลายเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริง

“โครงการทดสอบเครื่องยนต์จรวดอาจสำเร็จภายในสิ้นปีนี้” สถาบันสหรัฐฯ-เกาหลีแห่งมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ แถลงผ่านบล็อก 38 North ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือ

“หากการทดสอบเครื่องยนต์ลุล่วงด้วยดี ขั้นตอนต่อไปสำหรับการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป KN-08 ที่สามารถยิงด้วยระบบเคลื่อนที่บนท้องถนน (road-mobile) ก็น่าจะเป็นการทดสอบยิงอย่างเต็มรูปแบบ”

อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันย้ำว่าเวลานี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการทดสอบที่ผ่านๆ มาประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

จากการตรวจสอบภายถ่ายดาวเทียมเป็นระยะ นักวิจัยพบว่ามีการก่อสร้างขนานใหญ่เกิดขึ้นที่ฐานยิงจรวดโซแฮตั้งแต่ช่วงกลางปี 2013 โดยเป็นการขยายฐานยิงให้สามารถรองรับจรวดที่มีขนาด พิสัยยิง และศักยภาพในการรับน้ำหนักมากกว่าเดิม

ภาพถ่ายดาวเทียมในเดือนนี้แสดงให้เห็นว่า ความสูงของฐานยิงจรวดหลักในโซแฮเพิ่มขึ้นเป็น 50 กว่าเมตร ส่วนโครงการขยายถนนและระบบรางที่จะใช้ขนส่งจรวดที่มีขนาดใหญ่มายังฐานยิงก็ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว

“การปรับปรุงฐานยิงจรวดน่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2015” เว็บไซต์ 38 North ระบุ

นักวิเคราะห์ยังสังเกตเห็นร่องรอยการทดสอบเครื่องยนต์จรวด เช่น มอเตอร์ของจรวดขั้นที่ 1 และแนวพุ่มไม้ที่ถูกเผาไหม้

เกาหลีเหนือนำจรวด KN08 ออกมาอวดโฉมครั้งแรกในพิธีสวนสนามทางทหารเมื่อเดือนเมษายน ปี 2012 แต่เวลานั้นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเพียงโมเดลจรวดปลอมๆ เท่านั้น

ต่อมาในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เปียงยางก็ได้แสดงศักยภาพยิงจรวดนำดาวเทียมสำรวจขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกได้เป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ดี โสมแดงยังต้องพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าเทคโนโลยีของพวกเขารุดหน้าถึงขั้นผลิตจรวดที่สามารถกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก (re-entry) ซึ่งเป็นสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) หรือไม่

สามารถชมภาพถ่ายดาวเทียมได้ที่เว็บไซต์ http://38north.org/2014/07/sohae073014/
กำลังโหลดความคิดเห็น