เอเอฟพี - ตำรวจอิตาลีได้จับกุมผู้อพยพ 5 รายที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ก่อเหตุฆาตกรรมผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่โดยสารมาบนเรือลำเดียวกัน ระหว่างที่กำลังเดินทางมายุโรป
กองทัพเรืออิตาลีและมอลตาได้พบศพผู้ลี้ภัยจำนวน 30 ศพเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (19 ก.ค.) ที่เสียชีวิตเพราะความร้อนและควันจากเครื่องยนต์ เนื่องจากถูกขังไว้ภายในห้องเก็บของ บนเรือที่มีผู้โดยสารกว่า 560 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพชาวซีเรีย
หลังจากที่ได้นำตัวบรรดาผู้รอดชีวิตไปยังท่าเรือบนเกาะซิซิลี ในเมืองเมสสินา เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ระบุว่า น่าจะมีผู้ลี้ภัยอีกประมาณ 110 รายที่ถูกโยนทิ้งลงทะเล ด้วยฝีมือของผู้โดยสารบนเรือลำเดียวกันระหว่างที่เดินทางมาจากตูนิเซีย
ทั้งนี้ บรรดาผู้รอดชีวิตให้รายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าการเดินทางไปสู่ชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นของพวกเขาคราวนี้ นั้นกลายเป็นฝันร้ายไปได้อย่างไร โดยพวกเขาระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนเรือนั้นไม่ต่างอะไรกับการสังหารหมู่ มีผู้อพยพจำนวนมากที่ถูกขังไว้ในห้องเก็บของเริ่มตื่นตระหนกในตอนที่อากาศหายใจเริ่มจะหมด ทำให้คนเหล่านั้นพังประตูออกมาแล้วบุกไปยังบริเวณสะพานเดินเรือ
จากนั้นเรือก็เริ่มที่จะอัปปาง ขณะที่มีการต่อสู้เกิดขึ้นระหว่างผู้โดยสารสองกลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งต้องการที่จะเดินทางต่อ ส่วนอีกกลุ่มอยากจะเดินทางกลับตูนิเซีย
ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อ้างว่า ท่ามกลางความโกลาหล มีหลายคนที่ถูกแทง ขณะที่คนอื่นๆ ถูกโยนลงทะเล เพื่อจะได้ทำให้เรือยังลอยน้ำอยู่ได้
ผู้กำกับการตำรวจของเมืองเมสสินา ประเมินว่า มีผู้อพยพประมาณ 50 รายถูกโยนลงทะเล กับผู้ที่ถูกแทงก่อนโยนลงทะเลอีกประมาณ 60 ราย
ผู้ที่ถูกจับกุมตัวทั้ง 5 ราย เป็นชาวซีเรียอายุ 21 ปี , ชาวโมร็อกโก 2 ราย อายุ 21 และ 25 ปี , ชาวปาเลสไตน์อายุ 25 ปี และชาวซาอุดิอาระเบีย อายุ 32 ปี
สื่ออิตาลี ระบุว่า ในกลุ่มผู้ที่ถูกจับ มีสามรายที่พยายามจะหลบหนี โดยพบตั๋วรถบัสไปเมืองมิลานที่อยู่ทางเหนือของอิตาลีอยู่ในกระเป๋า นอกจากนี้ยังมีแก๊งค้ามนุษย์ชาวตูนิเซียอีก 3 ราย ที่ไม่พยายามหยุดยั้งเหตุสังหารหมู่นี้ ถูกจับได้โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (21 ก.ค.)
เรื่องราวอันโหดร้ายครั้งนี้ เป็นโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นบนหนึ่งในเรือของผู้อพยพจำนวนมากมายที่กำลังหลั่งไหลเข้าสู่ยุโรป
ก่อนหน้านี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้อพยพมากกว่า 1,700 ราย ที่ได้รับการช่วยเหลือในน่านน้ำของอิตาลี โดยทางกองทัพเรืออิตาลีระบุว่า มีผู้หญิงและเด็กจำนวนมากอยู่ในบรรดาผู้อพยพเหล่านี้ นอกจากนี้เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ก็มีมากกว่า 2,000 ราย ภายในเวลาเพียงแค่ช่วงสุดสัปดาห์เดียว
จำนวนผู้อพยพเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลังๆ เนื่องจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างสงบในช่วงหน้าร้อนบวกกับสถานการณ์ในลิเบียที่ร้อนระอุขึ้นทุกที
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ คาดว่ามีผู้อพยพประมาณ 80,000 รายได้เข้ามาสู่อิตาลีเรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าสถิติเก่าที่เคยบันทึกไว้ 63,000 รายในปี 2011 ตอนที่มีเหตุการณ์อาหรับสปริง
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้อพยพที่โดยสารมากับเรือหลายร้อยลำก็ได้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ระหว่างการเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นี่คือสิ่งที่ทำให้สาธารณชนจับตามองปัญหานี้ และเพิ่มความตึงเครียดในสหภาพยุโรป
หลายประเทศที่มีพรหมแดนติดทะเล อย่างเช่น อิตาลี ได้ออกมาบ่นว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากชาติพันธมิตรยุโรปในการรับมือกับปัญหาการลักลอบเข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมาก ขณะที่บรรดาประเทศที่อยู่ทางเหนือต่างก็ยืนยันว่าตนเองนั้นมีปัญหาผู้อพยพที่ต้องรับมือมากอยู่แล้ว
กองทัพเรืออิตาลี ได้เริ่มปฏิบัติการ "มาเร นอสตรุม" ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากที่มีผู้อพยพอย่างผิดกฏหมาย 360 คน จมน้ำเสียชีวิตบริเวณเกาะลัมเปดูซา สร้างความตกตะลึงให้กับยุโรปและประเทศอื่นทั่วโลก
"มันเป็นภาระที่ไม่อาจแบกรับไหวสำหรับประเทศเดียว" ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการของกองทัพเรืออิตาลี พลเรือเอก ฟิลิปโป มาเรีย ฟอฟฟี ผู้ดำเนินแผนปฏิบัติการ มาเร นอสตรุม กล่าวเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา