xs
xsm
sm
md
lg

สองลูกเรือ MH17 รอดตายหวุดหวิดหลัง “ไม่ยอมขึ้นบินผ่านเขตสงคราม” - แฉ “มาเลเซียแอร์ไลน์ส” ถูกเตือนล่วงหน้าหลายสัปดาห์ก่อนเกิดเหตุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ลูกเรือเที่ยวบิน MH17 จำนวน 2 คนที่ขอแลกเวรทำหน้าที่ขึ้นบินเพราะ “ไม่ต้องการบินผ่านน่านฟ้ายูเครนที่อยู่ในเขตสงคราม” ในขณะมีแหล่งข่าวเปิดเผยว่านักบินอาวุโสและลูกเรือได้แจ้งเตือนบริษัทมาเลเซียแอร์ไลน์สเรื่องเส้นทางการบินล่วงหน้าหลายสัปดาห์ก่อนเกิดเหตุสลด

สื่ออังกฤษรายงานเมื่อวานนี้ (20) ว่า มีลูกเรือเที่ยวบิน MH17 จำนวน 2 คนขอแลกเวรทำหน้าที่หลังจากทั้งนักบินอาวุโสและลูกเรือมีการส่งสัญญาณเตือนบริษัทสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์สหลายสัปดาห์ถึงเส้นทางการบินที่เสี่ยงภัยสงครามในยูเครนตะวันออก ถึงแม้ว่าคืนวันเสาร์ (19) บริษัทสายการบินสัญชาติมาเลย์ออกมาปฏิเสธว่า “ไม่ได้เพิกเฉย” ต่อคำเตือนของลูกเรือ MH17

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า มีลูกเรือของ MH17 ที่ทราบว่าต้องปฏิบัติหน้าที่ในขณะเครื่องบินโบอิ้ง 777 ต้องบินผ่านเขตสงครามปฏิเสธที่จะทำหน้าที่เนื่องมาจากเหตุผลด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะหลังจากเครื่องบินของรัฐบาลยูเครนจำนวน 2 ลำถูกกลุ่มติดอาวุธยูเครนยิงตก

นอกจากนี้ แหล่งข่าวเปิดเผยว่านักบินแสดงความกังวลถึงความปลอดภัยในเส้นทางการบินของโบอิ้ง777 ล่วงหน้าต่อเจ้าหน้าที่หอบังคับการบิน และได้แจ้งเป็นการภายในกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) แต่ “บริษัทมาเลเซียแอร์ไลน์สไม่ได้เปลี่ยนเส้นทางการบินเช่นเดียวกับบริษัทสายการบินอื่น”

บริติชแอร์เวย์ รวมไปถึงบริษัทสายการบินสัญชาติสหรัฐฯ ลุฟท์ฮันซ่า แอร์ฟรานซ์ และแควนตัส ล้วนต่างเปลี่ยนเส้นทางการบินโดยหลีกเลี่ยงเขตสงครามในยูเครน “ที่ส่งผลให้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น 20 นาที” ในการเดินทางสู่ปลายทาง และทำให้บริษัทมาเลเซียแอร์ไลน์สถูกกดดันให้ตอบคำถามว่า เหตุใดทางบริษัทจึงไม่เลี่ยงที่จะบินเช่นเดียวกับสายการบินชั้นนำอื่นๆ

อิสมาอิล นาซารูดด์ (Ismail Nasarudd) ประธานองค์กรพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินแห่งชาติมาเลเซีย (National Union of Flight Attendants) ให้สัมภาษณ์ในวันเสาร์(19)ว่า ต้องมีการตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงอนุญาตให้เครื่องบินโดยสารสามารถบินผ่านเขตสงครามได้ “พวกเรารู้สึกโกรธมากต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ICAO ที่ให้ไฟเขียว MH17สามารถบินผ่านยูเครนตะวันออกได้ในระดับความสูงเหนือ 32,000 ฟุต และสายการบินอื่นก็ทำตามเช่นเดียวกันนั้น เราต้องการรู้ว่า ICAO ตระหนักถึงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และหาก ICAO คาดว่าอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิตผู้โดยสาร ทางเราต้องการทราบเหตุผลว่าเหตุใด ICAO จึงยังอนุญาตให้ทำการบินต่อไป เราต้องการอยากทราบว่ามาเลเซียแอร์ไลน์สนั้นถูกเลือกให้เป็นเป้าพิเศษหรือไม่” นาซารูดด์กล่าว

หน่วยงานควบคุมความปลอดภัยทางอากาศของอังกฤษได้แจ้งเตือนสายการบินให้ระวังการบินผ่านโดเนตสก์ แต่หน่วยงานควบคุมความปลอดภัยทางอากาศของสหภาพยุโรป และ ICAO ไม่ได้สั่งห้ามการบินเหนือเขตสงครามในยูเครน

โฆษกมาเลเซียแอร์ไลน์สปฏิเสธในคืนวันเสาร์ (19) ว่า ไม่มีลูกเรือคนใดแจ้งเตือนถึงเส้นทางการบินผ่านยูเครนตะวันออก และอ้างว่ามาเลเซียแอร์ไลน์สเป็นหนึ่งในอีกหลายบริษัทสายการบินที่ยังมีเส้นทางการบินผ่านดินแดนความขัดแย้งในยูเครนตะวันออก ที่ได้รับอนุญาตจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และICAO ซึ่งในเส้นทางนั้นมีเครื่องบินผ่าน 150 เที่ยวต่อวัน

Tan Bee Jeok Singh วัย 43 ปี เป็นหนึ่งใน 2 ของลูกเรือที่ได้ขอแลกเวรเพื่อไม่ต้องขึ้นบิน MH17 ที่สุดท้ายถูกยิงตกในวันพฤหัสบดี (17) ที่ผ่านมา แต่ทว่า Sanjid Singh สามีของเธอที่เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเช่นกันต้องจบชีวิตลงในวันพฤหัสบดี (17) จากการที่เขาต้องแลกเวรกับเพื่อนพนักงานคนอื่นเพื่อทำหน้าที่บนMH17 บินกลับไปมาเลเซีย

บิดาของ Singh วัย 71 ปี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมาเลย์ Malaysian Insider ว่า “ลูกชายของผมมักโทรศัพท์หาพวกเราก่อนเริ่มเดินทาง และก่อนหน้านี้เขาบอกพวกเราว่าได้ขอแลกเวรปฏิบัติหน้าที่กับเพื่อนเพื่อเดินทางจากอัมสเตอร์ดัมกลับบ้าน และทั้งภรรยาของลูกชายและ Singh อยากพบลูกชายวัย 7 ปีที่อาศัยอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์มาก และแม่ของ Singh ได้เตรียมทำอาหารที่ Singh ชอบรอต้อนรับกลับบ้าน”

นอกจากนี้ ไม่ปรากฏว่าเหตุใดTan Bee Jeok Singh จึงขอเปลี่ยนเวรแต่เธอยังเป็นลูกเรือ MH370 ที่รอดชีวิตมาได้จากการที่เธอขอแลกเวรกับเพื่อนพนักงานคนอื่นโดยไม่ต้องขึ้นบินใน MH370 เที่ยวบินสูญหายนั้นในนาทีสุดท้าย บุตรสาวของคนทั้งคู่ที่อาศัยอยู่ในอิตาลีได้รับแจ้งเหตุร้ายในวันศุกร์ (18) ที่ผ่านมา



กำลังโหลดความคิดเห็น