xs
xsm
sm
md
lg

สงครามเย็นกลับมาอีกรอบ? “ปูติน” ปัดฝุ่นฐานบัญชาการจารกรรมลับสมัยโซเวียตบนเกาะคิวบา หลังถูกสหรัฐฯ-อียูรวมหัวบีบหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - รัสเซียตกลงร่วมกับคิวบาในการเปิดในการเปิด “ฐานLourdes” ศูนย์บัญชาการจารกรรมทางระบบอิเล็กทรอนิกของรัสเซียบนเกาะคิวบาที่เคยใช้ในยุคสงครามเย็นในสมัยอดีตสหภาพโซเวียต แหล่งข่าวรัสเซียรายงาน

บีบีซี สื่ออังกฤษรายงานเมื่อวานนี้ (16 ก.ค.) ว่า ฐาน Lourdes ตั้งอยู่ใกล้กับกรุงฮาวานา คิวบา ห่างจากสหรัฐฯ ไปเพียง 250 กิโลเมตร

ข้อตกลงกับคิวบาเกิดขึ้นหลังจากการเยือนประเทศคอมมิวนิสต์ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ Kommersant รายงาน

ทั้งนี้ ศูนย์บัญชาการจารกรรม Lourdes ถูกปูตินสั่งปิดไปในปี 2001 เนื่องมาจากค่าใช้จ่าย

แหล่งข่าวความมั่นคงรัสเซียเผยผ่านรอยเตอร์ยืนยันรายงานของ Kommersant พร้อมกล่าวว่า “กรอบร่างการเจรจาได้บรรลุผลแล้ว”

ในปี 2008 RIA Novosti สื่อรัสเซีย รายงานว่า อเลกซานเดอร์ พิคาเยฟ (Alexander Pikayev) หัวหน้าแผนกปลดอาวุธและแก้ปัญหาความขัดแย้งประจำสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์ของรัสเซีย ภายใต้เวิลด์ อีโคโนมิกส์ และสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า “คิวบาถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ยอดเยี่ยมที่จะหาข่าวกรองจากสหรัฐฯ ซึ่งผมเชื่อว่าการเปิดฐานบัญชาการข่าวกรอง Lourdes ขึ้นอีกครั้งมีหตุผลทั้งความจำเป็นและความเป็นไปได้ ท่ามกลางภัยความคุกคามที่อเมริกามีต่อรัสเซียเพิ่มมากตามลำดับ”

RIA Novosti รายงานว่า ฐานจารกรรมลับของอดีตสหภาพโซเวียตนี้กินพื้นที่ราว 28 ตร.ไมล์ และมีจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำราว 1,500 นาย รวมถึงวิศวกร ช่างเทคนิค และเจ้าหน้าที่กองทัพรัสเซีย ประจำอยู่ที่นั่น และพบว่าฐาน Lourdes มีความสามารถในการดักฟังการสื่อสารทั่วบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ และการสื่อสารระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป

ในสมัยที่สองของประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียดิ่งเหวนับตั้งแต่เกิดเหตุประท้วงของกลุ่มยูเครนนิยมตะวันตก และนำไปสู่การตกจากอำนาจของอดีตประธานาธิบดียูเครน วิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งนำมาสู่การที่รัสเซียผนวกดินแดนไครเมีย และความรุนแรงในภาคตะวันออกของยูเครนในปัจจุบันนี้

ทั้งนี้ ระหว่างการเยือนคิวบาในวันศุกร์ (11) ที่ผ่านมา ปูตินตกลงที่จะยกหนี้ร่วม 90% หรือมูลค่า 32 พันล้านดอลลาร์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอดีตสหภาพโซเวียตให้กับคิวบา Kommersantรายงานต่อ

ฐาน Lourdes เริ่มเปิดใช้ในปี 1967 ทำหน้าที่หาข่าวกรองให้กับหน่วยงานข่าวกรองของอดีตสหภาพโซเวียต และยังจัดการด้านสื่อสารลับสำหรับกองทัพเรืออดีตสหภาพโซเวียต

ในสมัยอดีตสหภาพโซเวียต มีเจ้าหน้าที่งานข่าวกรองประจำอยู่ที่ศูนย์บัญชาการแห่งนี้ราว 3,000 คน และในยุค 90 รัสเซียลดเจ้าหน้าที่ลง 1 ใน 2 ของจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมด โดย Kommersant รายงานว่า ไม่มีความจำเป็นต้องมีจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำฐาน Lourdes มากเหมือนอย่างเช่นในอดีตเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ในครั้งที่รัสเซียปิดฐาน Lourdes ในปี 2001 นั้น รัสเซียต้องจ่ายค่าเช่าให้แก่คิวบาราว 200 ล้านดอลลาร์

สมัยสงครามเย็นคิวบาถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเหตุวิกฤตมิสไซล์ของโซเวียตในคิวบาปี 1962 ที่เกือบจะยกระดับขึ้นเป็นสงครามนิวเคลียร์ แต่สามารถสงบลงได้ในอีก 12 วันถัดมา เมื่ออดีตประธานาธิบดี นิกิตา ครุชอฟ (Nikita Khrushchev) แห่งสหภาพโซเวียตยอมถอย และสั่งให้เคลื่อนย้ายจรวดมิสไซล์ออกไป ครุชอฟสืบอำนาจต่อจากโจเซฟ สตาลิน ที่ถึงแก่อสัญกรรมในปี 1953

การเปิดใช้ฐานบัญชาการสอดแนมบนเกาะคิวบาอีกครั้งเกิดขึ้นท่ามกลาง ความตรึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและโลกตะวันตก ตกต่ำสุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น

ในวันพุธ (16) สหรัฐฯ และยุโรป เพิ่มความหนักหน่วงในมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียต่อกรณียูเครนครั้งสำคัญ ด้วยเป็นครั้งแรกที่วอชิงตันเล่นงานโดยตรงต่อเป้าหมายธนาคาร กองทัพ และภาคพลังงานของมอสโก ด้วยหวังผลถึงขึ้นฉุดเศรษฐกิจหมีขาวเข้าสู่ภาวะถดถอย ที่ทำให้รัสเซียกร้าวที่จะขู่ตอบโต้อย่างสาสม

โดยสหรัฐฯ เผยว่า จำเป็นต้องดำเนินการอย่างไม่มีทางเลือก หลังจากรัสเซียปฏิเสธใช้มาตรการต่างๆ ในการยุติความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นระงับให้การสนับสนุนฝ่ายกบฏหรือขัดขวางการไหล่บ่าข้ามพรมแดนของอาวุธและเสบียง “เราจำเป็นต้องกำหนดคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม ต่อพฤติกรรมต่างๆ ที่ละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน” แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ กล่าว

ซึ่งปูตินที่อยู่ระหว่างเยือนบราซิล ให้สัมภาษณ์ผ่านผู้สื่อข่าว เตือนว่ามาตรการของสหรัฐฯ จะนำพาความสัมพันธ์กับมอสโกเข้าสู่ภาวะที่ไร้ความหวัง อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าขอรอดูรายละเอียดเพื่อให้เข้าใจถึงขอบเขตของมาตรการเหล่านั้นก่อน แล้วถึงจะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้ชี้ว่ามาตรการคว่ำบาตรจะก่อความเสียหายแก่ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และเหล่าบริษัทพลังงานหลักๆ ของวอชิงตันเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น