เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ตัวเลขทางเศรษฐกิจล่าสุดยืนยัน เศรษฐกิจของสกอตแลนด์มีอัตราการเติบโตสูงกว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ฝ่ายเรียกร้องเอกราชชี้ อังกฤษพยายามขัดขวางการแยกตัวของสกอตแลนด์ทุกรูปแบบ เพราะหวั่นเศรษฐกิจตัวเองดิ่งเหว หาใช่ต้องการ “ความเป็นเอกภาพ”
รายงานข่าวล่าสุดในวันพุธ (16) ซึ่งมีการเผยแพร่ผ่านสื่อดังหลายสำนักของอังกฤษ รวมถึง “เทเลกราฟ” ระบุว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของแคว้นสกอตแลนด์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มีการเติบโตอยู่ที่ “ร้อยละ 1” หลังภาคการผลิตและภาคบริการของสกอตแลนด์มีการเติบโตอย่างสำคัญ
ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของสกอตแลนด์ที่ร้อยละ 1 ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือรวมกัน หลังมีการยืนยันเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าเศรษฐกิจของดินแดนอื่นๆ ในสหราชอาณาจักรมีการเติบโตในช่วงเวลาดังกล่าวเพียง “ร้อยละ 0.8”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการยืนยันว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของสกอตแลนด์มีอัตราสูงกว่าอังกฤษ และดินแดนส่วนอื่นในสหราชอาณาจักร เพราะก่อนหน้านี้ในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงปี 2008-2009 นั้น ปรากฏว่า เศรษฐกิจของอังกฤษประสบ “ภาวะถดถอยอย่างเลวร้าย” โดยพบ “การหดตัวของจีดีพี” ในเวลานั้นสูงถึงร้อยละ 5.2 ในขณะที่เศรษฐกิจของสกอตแลนด์ในช่วงเดียวกันกลับมีการเติบโตอย่างแข็งขัน
ด้านพรรค “สกอตติช เนชันแนล ปาร์ตี้” หรือ “เอสเอ็นพี” ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการหนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของแคว้นสกอตแลนด์ ออกคำแถลงที่ระบุว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยออกมาล่าสุดถือเป็นการตอกย้ำให้ประชาคมโลกได้เห็นอีกครั้งว่า ในความเป็นจริงแล้ว สกอตแลนด์สามารถเป็นประเทศเอกราชได้โดยสมบูรณ์ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอังกฤษ หรือดินแดนส่วนอื่นของสหราชอาณาจักร แต่ที่ผ่านมารัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน กลับดำเนินความพยายามทุกวิถีทางในการขัดขวางการแยกตัวของสกอตแลนด์ โดยอ้างเหตุผลแบบ “ข้างๆ คูๆ” ว่า ต้องการให้สกอตแลนด์อยู่ร่วมกับสหราชอาณาจักรต่อไป โดยอ้างเหตุผลเรื่อง “เอกภาพ”
“ในความเป็นจริงแล้ว อังกฤษกลัวว่าเศรษฐกิจของตัวเองจะดิ่งเหว หากไม่มีสกอตแลนด์ พวกเขามักยกเรื่องเอกภาพมาเป็นข้ออ้างขัดขวางการเป็นเอกราชของเรา เพื่อกลบเกลื่อนความกังวลของพวกเขาในเรื่องปากท้อง” คำแถลงส่วนหนึ่งของเอสเอ็นพีระบุ
ด้านสจ๊วร์ต โฮซี สมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคเอสเอ็นพีออกมาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีการเผยแพร่ล่าสุดน่าจะสร้าง “ความสบายใจ” และ “ความเชื่อมั่น” ให้กับประชาชนในแคว้นสกอตแลนด์ที่มีจำนวนมากกว่า 5.3 ล้านคนได้ว่า สกอตแลนด์จะมีอนาคตที่สดใสรออยู่เบื้องหน้า หากผลการลงประชามติในวันที่ 18 กันยายนนี้ออกมาว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเอกราช
ทั้งนี้ ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของสกอตแลนด์ดังกล่าวยังมิได้นับรวมรายได้มหาศาลของแคว้นแห่งนี้จากการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในบริเวณ “ทะเลเหนือ” โดยที่ผ่านมารายได้จากอุตสาหกรรมพลังงานในน่านน้ำดังกล่าวต้องถูกแบ่งให้กับอังกฤษด้วย และทำให้ชาวสกอตแลนด์จำนวนไม่น้อยตั้งข้อสังเกตถึง “ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ”
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดที่จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยสำนักวิจัย “ไอซีเอ็ม” และหนังสือพิมพ์สกอตแลนด์ ออน ซันเดย์ ระบุว่า ในขณะนี้จำนวนชาวสกอตแลนด์ที่หนุนการแยกตัวยังมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 34 ขณะที่ฝ่ายหนุนการรวมตัวกับสหราชอาณาจักรต่อไปมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 45 ส่วนพวกที่ยังไม่ตัดสินใจยังคงมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 21