เอเอฟพี - คณะทำงานด้านการเฝ้าระวังชุดหนึ่งระบุวันนี้ (9 มิ.ย.) ว่ารัฐบาลอังกฤษอาจไม่สามารถรักษาคำมั่นที่ให้ไว้ว่า จะแก้ปัญหาความยากจนในเด็ก เนื่องจากในปี 2020 เด็กอังกฤษ 3.5 ล้านคนจะยังต้องใช้ชีวิตอย่างอัตคัตขัดสนต่อไป
รายงานของ “คณะกรรมาธิการว่าด้วยการเปลี่ยนสถานภาพทางสังคม และปัญหาความยากจนในเด็ก” ภายใต้การนำของ อลัน มิลเบิร์น อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขสรุปว่า เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนในเด็กของรัฐบาลอังกฤษ “ไม่บรรลุผลสำเร็จ” และรัฐบาลไม่ได้ลงแรงมากพอเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
ทั้งนี้ คำมั่นสัญญาที่ว่าจะลดจำนวนเด็กยากจนให้เหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2020 เป็นเป้าหมายที่ได้รับการเชิดชูในกฎหมายตั้งแต่ 2010
มิลเบิร์นกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาระยะ 3 ปีนี้เป็น “โอกาสที่หลุดลอย” และกล่าวตำหนิบรรดารัฐมนตรีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ว่า จะใช้มาตรการใดรับมือกับความยากจน ภายหลังที่ปฏิเสธไม่ยอมรับมาตรการเดิม
งานวิจัยฉบับใหม่ชิ้นนี้ระบุว่า ในการไขว่คว้าเป้าหมายปี 2020 ขณะอังกฤษยังคงระบบภาษี และระบบสวัสดิการในปัจจุบันเอาไว้ พ่อแม่ชาวอังกฤษจำเป็นต้องมีอัตราการจ้างงานเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งจะต้องมีชั่วโมงทำงานที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมมาก
รายงานฉบับนี้ชี้ว่า ผลลัพธ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ “น่าเหลือเชื่อ” และ “ไกลเกินเอื้อม” กว่าที่อังกฤษ หรือ “ประเทศอื่นใดในโลก” เคยทำสำเร็จมาแล้ว
คณะกรรมาธิการชุดนี้ยอมรับว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีข้อดีบางประการ เช่น การขยายสถานรับเลี้ยงเด็ก การให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้มีรายได้ต่ำ และการรับทราบปัญหาในการทำงานของผู้มีฐานะยากจน เพิ่มขึ้น
กระนั้นกลยุทธ์นี้ก็ยังมีข้อดีไม่มากพอ ที่จะสามารถป้องกันไม่ให้อัตราเด็กยากจนเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยยังไม่รวมถึงการทำให้อัตราเด็กยากจนลดฮวบลงตามเป้าภายในปี 2020
รายงานฉบับดังกล่าวยังวิพากษ์วิจารณ์การขาดมาตรการประเมินความก้าวหน้า และชี้ให้เห็นว่าไม่มีแผนงานที่ละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งควรระบุอย่างชัดเจนว่า จะต้องดำเนินการเช่นไรกับอาชีพ ค่าแรง สวัสดิการเพื่อให้ความมั่นใจได้ว่าจะสามารถลดอัตราความยากจนได้จริง
นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ระบุว่า รัฐบาลเมืองผู้ดีเพิกเฉยต่อผลกระทบที่เกิดจากการลดทอนสวัสดิการ
มิลเบิร์นกล่าวว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลชุดปัจจุบันเท่านั้น เนื่องจากนักการเมืองจากทุกพรรคต่างให้สัญญาว่า จะปฏิบัติตามเป้าหมายปี 2020 การปรารถนาที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย ขณะที่วันนี้ยังไม่รู้วิธีการ รังแต่จะทำให้ต้องผิดคำสัญญาในวันพรุ่งนี้”
อดีตสมาชิกคณะรัฐมนตรีพรรคแรงงานผู้นี้ยังกล่าวด้วยว่า “ตอนนี้ผู้นำพรรคการเมืองจากทุกภาคส่วนทางการเมืองจะต้องออกมาเผยอย่างหมดเปลือกว่า พวกเขาวางแผนจะทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย หรือสร้างความก้าวหน้าในเรื่องใดได้บ้าง หากพวกเขาคิดว่าผลลัพธ์ที่ได้จะไม่เป็นไปตามคาด”
โฆษกของกระทรวงการจ้างงานและสวัสดิการสังคมกล่าวว่า “เรายังคงยึดมั่นปฏิบัติตามเป้าหมายของเรา ที่ต้องการยุติปัญหาความยากจนในเด็กภายในปี 2020”
“แผนกลยุทธ์คร่าวๆ ของเรา คือการแก้ปัญหาความยากจนที่ต้นตอ เช่น ปัญหาการว่างงาน รายได้ต่ำ และความล้มเหลวทางการศึกษา”
“วิธีการนี้เป็นภาพสะท้อนของสถานการณ์ปัญหาเด็กยากจนในสหราชอาณาจักรที่แท้จริง และเป็นเพียงวิธีเดียวที่เราจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน”