เอเอฟพี - สกอตแลนด์อาจประสบวิกฤตการเงินครั้งใหญ่หากแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร เนื่องจากมีภาคธนาคารซึ่งใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจหลายเท่าตัว ผลวิจัยโดยนิตยสารการเงิน เดอะ แบงเกอร์ ที่เผยแพร่วันนี้ (30) ระบุ
สื่อการเงินฉบับนี้ชี้ว่า ทรัพย์สินภาคธนาคารของสกอตแลนด์จะมีมูลค่ามากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ถึง 12 เท่าตัว หากยังคงจดทะเบียนอยู่ในประเทศหลังจากที่สกอตแลนด์แยกตัวเป็นเอกราช
เดอะ แบงเกอร์ เตือนว่า สภาวะเช่นนี้ “เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ”
ข้อมูลนี้อาจกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นถกเถียงระหว่างพวกที่สนับสนุนและคัดค้านการแยกตัวเป็นเอกราช ซึ่งต่างก็อ้างว่าแนวทางของตนจะช่วยให้เศรษฐกิจของสกอตแลนด์ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ก่อนที่รัฐบาลสกอตแลนด์จะจัดทำประชามติชี้ขาดในเดือนกันยายนนี้
เดอะ แบงเกอร์ ประเมินว่า ธนาคารกลางแห่งสกอตแลนด์, ธนาคารเอชบีโอเอส และธนาคารไคลเดสเดล จะมีสินทรัพย์รวมกันสูงถึง 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12 เท่าของจีดีพีสกอตแลนด์ซึ่งอยู่ที่ราวๆ 219,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ธนาคารในอังกฤษนั้นมีสินทรัพย์รวมกันอยู่ที่ราวๆ 9.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4 เท่าของจีดีพี ขณะที่ไอซ์แลนด์มีภาคธนาคารใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจประมาณ 10 เท่า ก่อนจะประสบภาวะล้มละลายทางการเงินเมื่อปี 2008
“หากสกอตแลนด์แยกตัวเป็นเอกราชตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 เศรษฐกิจจะพังครืน และต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อย่างไม่ต้องสงสัย” ไบรอัน แคปเลน บรรณาธิการเดอะ แบงเกอร์ ระบุ
ไอเอ็มเอฟ ได้จัดแพ็กเกจเงินช่วยเหลือแก่ประเทศเล็กๆ หลายแห่งที่มีภาคธนาคารใหญ่เกินตัวจนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการเงินโลกช่วงปี 2007-2008 รวมถึงไอซ์แลนด์ และไอร์แลนด์
อย่างไรก็ดี รัฐบาลสกอตแลนด์ออกมาปฏิเสธผลวิจัยของ เดอะ แบงเกอร์ โดยโต้แย้งว่า ผู้วิจัยได้เหมารวมเอาการลงทุนภาคธนาคารในกรุงลอนดอนมาคำนวณ โดยไม่คำนึงถึงการปฏิรูปภาคธนาคารที่รัฐบาลสกอตแลนด์ริเริ่มมาตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินโลก
“ตัวเลขเหล่านี้ล้าสมัย และไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของภาคการเงินในสกอตแลนด์” โฆษกรัฐบาล ระบุ
อย่างไรก็ตาม โฆษกกลุ่มเบตเตอร์ ทูเก็ตเธอร์ ซึ่งรณรงค์คัดค้านการแยกตัวเป็นเอกราชชี้ว่า ผลวิจัยชิ้นนี้ “เป็นเครื่องยืนยันว่า การแยกตัวออกจากอังกฤษจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของสกอตแลนด์”