เอเอฟพี - พบเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวในช่วงไตรมาสแรกเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ตอกย้ำว่าชาติมหาอำนาจแห่งนี้ยังคงตะเกียกตะกายคืนสู่ความเข้มแข็ง เกือบ 5 ปีหลังออกจากภาวะถดถอยรุนแรง ข้อมูลอย่างเป็นทางการเผยในวันพฤหัสบดี (29)
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นตัววัดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงร้อยละ 1.0 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2014 เมื่อเทียบเป็นรายปี จากที่ประมาณการเบื้องต้นว่าน่าจะหดตัวลงแค้ร้อยละ 0.1 และเลวร้ายกว่าที่นักวิเคราะห์คาดหมายไว้ว่าน่าจะหดตัวราวร้อยละ 0.5
ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่เศรษฐกิจชาติมหาอำนาจของโลกแห่งนี้หดตัวในช่วงไตรมาสแรก นับตั้งแต่หลุดพ้นจากภาวะถดถอยรุนแรงอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2009 โดยคราวก่อนหน้านี้เศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 1.3 ในช่วงไตรมาสแรกปี 2011
นักวิเคราะห์มองว่า การหดตัวทางเศรษฐกิจในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม หลังจากขยายตัวถึงร้อยละ 2.6 ในไตรมาส 4 ของปี 2013 ส่วนใหญ่แล้วมีความสัมพันธ์กับสภาพอากาศ เนื่องจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ ต้องเผชิญอากาศหนาวเลวร้ายผิดปกติที่ปลุกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ อันก่อความยุ่งเหยิงด้านการขนส่งและทำคนอเมริกันจำนวนมากขลุกอยู่แต่ในบ้าน
กระทรวงพาณิชย์มองว่าภัยพิบัติจากภาวะอากาศหนาวเหน็บที่สุดในรอบหลายสิบปี ส่งผลให้ยอดสะสมของสินค้าคงเหลืออยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะตัวแทนจำหน่ายยานยนต์ อย่างไรก็ตาม หากปราศจากปัจจัยด้านการลงทุนสินค้าคงคลังแล้ว จีดีพีของสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสแรกก็ยังจะขยายตัวแค่ร้อยละ 0.6 น้อยกว่าที่คาดหมายไว้เบื้องต้นร้อยละ 0.7 เล็กน้อย
กระทรงพาณิชย์มองว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่ฉุดให้จีดีพีหดตัว เช่น การส่งออก การลงทุนภาคธุรกิจและอสังหาริมทรพัย์ที่ลดลง เช่นเดียวกับการตัดลดการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
“ข่าวร้ายคือข่าวพาดหัวจีดีพีเลวร้ายกว่าที่คาดหมายกัน แต่ข่าวดีก็คือส่วนใหญ่แล้ว เป็นผลกระทบในส่วนของสินค้าคงเหลือเท่านั้น” เอียน เชฟเฟิร์ดสัน จากแฟนทอม มาโครอิโคโนมิคระบุ พร้อมบอกว่า “พวกนักวิเคราะห์ทมองว่าหากสินค้าคงเหลือลดลง ในช่วงไตรมาส 2 ก็จะเข้าสู่ระยะของการลงทุนเพิ่มเติม และเราคิดว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวได้ราวๆ ร้อยละ 3”
ในรายงานของกระทรวงพาณิชย์ยังระบุด้วยว่า ผลกำไรของบริษัทต่างๆ ในช่วงไตรมาสแรกลดลงจากไตรมาส 4 ของปีก่อน ถึงร้อยละ 9.8 ถือเป็นการลดลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2008 ท่ามกลางวิกฤตการเงิน
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เพิกเฉยต่อข้อมูลที่อ่อนแอในช่วงไตรมาสแรก ด้วยมองว่ามันมีความสัมพันธ์กับสภาพอากาศ ขณะที่ยังจะเดินหน้าค่อยๆ ลดระดับกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปท่ามกลางภาวะฟื้นตัวพอประมาณ
วันเดียวกันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดจำนวนผู้เข้ารับสิทธิประโยชน์คนว่างงานในสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยตัวเลขเบื้องตันพบว่าลดลงถึง 27,000 อัตรา โดยมียอดจำนวนผู้เข้ารับสิทธิประโยชน์คนว่างงาน 300,000 อัตรา ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 318,000 อัตรา สะท้อนสัญญาณถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการจ้างงาน และแนวโน้มยอดคนตกงานลดลง